การ รีแบรนด์ ขององค์กรเก่าแก่เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยใหม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจเสมอในมุมมองของนักการตลาด ประเทศไทยเองก็มีหลายองค์กรที่พวกเราคุ้นเคยได้ตัดสินใจปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่เพื่อความเหมาะสมกับโลกยุค 4.0 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ RS Group ส่วนของต่างประเทศที่มีกระแสไปช่วงหนึ่งก็คงไม่พ้นแบรนด์รถยนต์อย่าง BMW และ Nissan จุดสังเกตที่เห็นคือพวกเขามักจะทำการปรับภาพลักษณ์และแนวคิดการทำธุรกิจใหม่ทุก ๆ 20 ปี
นอกจากองค์กรด้านธุรกิจแล้ว องค์กรทางการเมืองก็เป็นอีกภาคส่วนที่มีความจำเป็นต้องรีแบรนด์เพื่อปรับตัวตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองเก่าเเก่ที่ผ่านการเปลี่ยนชื่อพรรคมาหลายรอบและไม่เคยปรับปรุงภาพลักษณ์ของพรรคเลยจนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันนี้

การ รีแบรนด์ นั้น ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยน-ปรับปรุงโลโก้เเล้วจบไป เเต่ต้องปรับแนวคิดการทำงาน (Mindset) ภารกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision) ใหม่หมด ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็เป็นเพียงแค่ปรับปรุงหน้าบ้านให้สวยงาม แต่หลังบ้านยังโบราณคร่ำครึเหมือนเดิม
การลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยของคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตามด้วยการลาออกของกรรมการบริหารพรรคหลายท่าน เกิดกระแสการคาดเดามากมายจากทั้งสื่อและประชาชน แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่วันพรรคเพื่อไทยก็แถลงต่อสื่อถึงกระบวนการ”ผ่าตัดพรรคใหม่” หรือในภาษาทางการตลาดเรียกว่าการ รีแบรนด์ (Re-branding)

โลโก้ 3 ยุค ที่ไม่เปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นของพรรคมาจากพรรคไทยรักไทยในสมัยคุณ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองจนมาถึงพรรคเพื่อไทย เราจะเห็นได้ว่าการใช้โลโก้ของพรรคเเเทบจะลอกกันมาไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบฟอนท์ การจัดวาง การใช้สี เหตุผลหลักก็เพื่อให้ประชาชนยังคง “จำได้” ถึงที่มาของพรรคในอดีต
โลโก้ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบโดยไร้นัยยะ เเต่เป็นการออกแบบที่ต้องบ่งบอกตัวตนขององค์กรด้วย
ชื่อ พรรคเพื่อไทย นั้น ความหมายสามารถแปลได้ตรงตัวคือ องค์กรการเมืองเพื่อคนไทย เพื่อประเทศไทย เพื่อสถาบันหลักของประเทศไทย
สีที่ใช้เราสามารถมองได้สองแบบ
- ภาพรวม: คือสีที่สะท้อนธงชาติไทย น้ำเงินแทนพระมหากษัตริย์ ขาวแทนศาสนา และแดงแทนชาติหรือประชาชน
- ภาพเจาะจง: สีน้ำเงินคือสีหลักที่พรรคเลือกใช้มาอย่างยาวนาน นอกจากสีนี้จะแทนถึงพระมหากษัตริย์ของไทยแล้ว สีน้ำเงินหรือสีฟ้ายังสะท้อนความรู้สึกดี เบาสบาย เเละเป็นกลาง ไม่ได้มีความหมายที่เอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากนัก สีนี้มักถูกนำมาใช้กับเเบรนด์ที่กลาง ๆ ให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อผู้ใช้อย่าง Facebook, Twitter, Skype, Samsung, Dtac เป็นต้น (อ่าน: ความสำคัญของ ‘สี’ ในงานการตลาด)
.jpg)
ปรับโลโก้ใหม่หลังจากใช้มาอย่างยาวนาน
เราสามารถพูดได้ว่า หลังจากนี้คงเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายอีกหลายอย่างจากพรรคเพื่อไทย แต่สิ่งแรกที่เราเห็นได้ชัดคือการปรับโลโก้ เราคงวิเคราะห์ได้ว่า พรรคเพื่อไทยอยากให้เราลืมตัวตนเดิม ๆ ของพรรคทิ้งไปซะเเล้วรอดูสิ่งใหม่ที่กำลังจะตามมา
ความเปลี่ยนแปลงของโลโก้ที่ชัดที่สุดคือการเลือกใช้ฟอนท์ใหม่ ลักษณะของตัวอักษรจะมีหัวที่ชัดขึ้น การมีหัวที่ชัดขึ้นแบบนี้คือการสื่อสารตัวตนในทิศทางใหม่อย่างมีนัยยะ และยังดูกลมมน มากว่าฟอนท์เก่าที่มีลักษณะเหลี่ยม ซึ่งตรงนี้อาจจะมีนัยยะบางอย่าง แต่ผู้เขียนขอเว้นไว้เพราะไม่อาจคาดเดาข้อเท็จจริงได้
ในมุมมองของนักการตลาด การเลือกเปลี่ยนจากฟอนท์ที่ไร้หัวมาเป็นมีหัว สามารถสื่อได้ว่าพรรคกำลังเดินหน้าสู่ความทันสมัย ไม่ยอมเป็นพรรคที่มีอุดมคติอนุรักษ์นิยมอย่างที่หลายคนคิด รวมถึงเเสดงออกถึงความโปร่งใส ชัดเจน ซึ่งน่าจะสื่อถึงจุดยืนทางการเมืองที่ตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้น หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดกระเเสว่าสมาชิกในพรรคมีความเห็นทางการเมืองและการชุมนุมที่แตกต่างกัน จนทำให้พรรคไม่สามารถเเสดงจุดยืนที่เป็นมติของพรรคได้
นอกจากนี้ฟอนท์ที่กลมขึ้นอาจจะสื่อได้ถึงความคิดที่ยืดหยุ่น หลุดพ้นจากฟอนท์เหลี่ยมที่เหมือนการสร้างกรอบกั้นเอาไว้
หลังจากนี้คงเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายอีกหลายอย่างจากพรรคเพื่อไทย
โลโก้เป็นแค่จุดเริ่มต้น
หลังจากเปิดเผยแนวคิดการเปลี่ยนโลโก้ของพรรคแล้ว พรรคยังเตรียมจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ นอกจากนี้พรรคยังเเย้มว่าจะมีการนำคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ผมเขียนวิเคราะห์ไป รวมถึงการสื่อสารจากพรรคเพื่อไทยถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นจริงอย่างที่ใครหลายคนหวังแค่ไหน เวลาเท่านั้นคือคำตอบ
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าการปรับปรุงหน้าบ้าน (ภาพลักษณ์) อย่างเดียวไม่เพียงพอในแง่ของการ รีแบรนด์ แต่การปรับแนวคิด คนทำงาน และรูปแบบการทำงานใหม่ จะทำให้การรีแบรนด์นั้น ทรงคุณค่าและน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชนที่สนับสนุน ซึ่งจะทำให้องค์กรอยู่ในใจของมวลชนไปอีกแสนนาน
อ้างอิง