ศัพท์การเมือง ที่ควรรู้ในปี 2020

ศัพท์การเมือง2

ปี 2563 ได้พาเรากลับมาสู่วังวนของการเมืองที่เข้มข้นอีกครั้งจากเหตุการณ์การเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนแนวคิดเสรีนิยมที่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหาการประท้วงครั้งนี้มี ศัพท์การเมือง มากมายที่น่าสนใจหลายอย่าง

หากผู้อ่านมีโอกาสได้ติดตามการชุมนุมคงได้ยิน ศัพท์การเมือง ที่ไม่คุ้นหู หรืออาจจะคุ้นแต่ไม่แน่ใจว่ามันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ เช่น สสร. คืออะไร? ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาคือพวกไหน? หรือแม้กระทั่งคำว่า ประชาธิปไตย ที่ถูกพูดถึงบ่อยมันคืออะไรกันแน่ บทความนี้จะพาไปรู้จัก ศัพท์การเมือง เหล่านั้นพร้อมคำอธิบายให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

ศัพท์การเมือง
การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเบลารุสต่อต้านรัฐบาลที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จมาอย่างยาวนาน

อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)

หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ เกี่ยวกับหลักการและคุณค่าทางการเมือง โดยสิ่งเหล่านี้มักมาจากค่านิยม การปลูกฝัง สภาพสังคม วิสัยทัศน์ รวมถึงนิสัยเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล (นิสัยสามารถส่งผลถึงเเนวคิดทางการเมืองได้เหมือนกัน)

พูดง่าย ๆ ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคนสามารถมาได้จากปัจจัยภายนอกเช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว บริบทของสังคมที่เติบโตมา และการศึกษาจากโรงเรียน ส่วนปัจจัยภายในเช่น ความคิดเห็นของบุคคลนั้นซึ่งเกิดมาจากการศึกษาวิจัยของผู้นั้นเอง หรือแม้กระทั่งการเลือกที่จะเชื่อของตัวเอง

บริบทการเมืองของไทยในปัจจุบันมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหัวก้าวหน้า (ฝ่ายซ้าย-เสรีนิยม) กับ กลุ่มคนรุ่นเก่าที่พอใจกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน (ฝ่ายขวา-อนุรักษ์นิยม)

เสรีนิยม (Liberalism)

เสรีนิยมหรือมุมมองการเมืองฝ่ายซ้าย คือทัศนคติทางการเมืองที่มุ่งให้สิทธิเสรีภาพ (Liberty) แก่บุคคลอย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย รวมถึงเชิดชูหลักความเสมอภาค (Equality) ยกตัวอย่างเช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น (ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่น ห้ามหมิ่นประมาท) สิทธิในการนับถือศาสนา เสรีภาพของสื่อ รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ

คนกลุ่มนี้มักรักในความอิสระ รักการแสดงออก เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง และไม่ชอบถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบจารีตประเพณีแบบเดิม ๆ

เสรีนิยมในการเมืองไทยปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ พรรคก้าวไกล กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มเยาวชนปลดแอก เป็นต้น (จะเห็นได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดต่างจากเดิม)

อนุรักษ์นิยม (Conservatism)

อนุรักษ์นิยมหรือมุมมองการเมืองฝ่ายขวา คือทัศนคติทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์และส่งเสริมสถาบันทางสังคมที่มีมาแต่เดิมในบริบทของวัฒนธรรมประเพณี มีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาระเบียบสังคมที่มีอยู่เดิมหรือการนำระเบียบสังคมในอดีตกลับมาใช้

ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่หากเลือกได้จะขอเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ หรือน้อยที่สุดมากกว่า (อะไรที่ไม่เสียก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนมัน)

อนุรักษ์นิยมในการเมืองไทยปัจจุบันคือ พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มไทยภักดี เป็นต้น

เมื่อความคิดของคนยุคใหม่ถูกพัฒนาให้คิดซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนคนนึงจะมีทั้งแนวคิดด้านเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม กล่าวคือในบางเรื่องก็อาจจะอยากเปลี่ยนแปลง แต่บางเรื่องกลับอยากจะอนุรักษ์เก็บไว้ เช่นเรียกร้องให้ระบบราชการปรับการทำงานให้มีความอิสระและหลุดจากกรอบเดิม ๆ มากขึ้น (เสรีนิยม) เเต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ระบบราชการยังคงมีเรื่องลำดับขั้น (Seniority) ดังเดิม (อนุรักษ์นิยม)

ปัจจุบันไม่แปลกที่คนคนนึงจะมีแนวคิดทั้งด้านเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม

กษัตริย์นิยม (Royalism)

หมายถึงทัศนคติทางการเมืองที่สนับสนุนราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ใดโดยเฉพาะ (นิยมราชวงศ์มากกว่าระบบ) เพื่อเป็นประมุขของรัฐ แนวคิดนี้จะต่างจาก ราชาธิปไตยนิยม (Monarchism) ซึ่งสนับสนุนการปกครองโดยสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่เจาะจงไปที่ราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง

กษัตริย์นิยมในการเมืองไทยมีมากมายหลายกลุ่มเช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มไทยภักดี กองทัพ รวมถึงกลุ่มคนรักสถาบันต่าง ๆ

ศัพท์การเมือง
https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1632250

รัฐธรรมนูญ (Constitution)

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ (พูดได้เลยว่าการเมืองจะดีต้องเริ่มต้นที่เนื้อหารัฐธรรมนูญ) รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญลำดับที่ 20 ของประเทศ สาเหตุที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับเพราะมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง

การเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปัจจุบันเกิดมาจากความไม่พอใจที่ 1. ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี (ไม่เคยมีมาก่อน) 2. ที่มาของส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชน (มาจากการแต่งตั้งของคสช.) และ 3. มีวาระถึง 5 ปี (สามารถเลือกนายกฯ ได้สองรอบ)

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. (Constitution Drafting Committee member)

คือคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมักเกิดจากการรัฐประหารหรือความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ วิธีสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถมาได้จากทั้งการแต่งตั้งและการเลือกตั้ง หรือทั้งสองอย่าง ขึ้นอยู่กับการลงมติของสภาหรือการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในช่วงเวลานั้น

การออกเสียงประชามติ (Referendum)

การนำร่างกฎหมายสำคัญหรือร่างรัฐธรรมนูญไปผ่านการตัดสินถามความเห็นชอบจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นประชาธิปไตยทางตรงแบบหนึ่งซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารราชการแผ่นดิน

การลงประชามติปี 2559 คือความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกนำมากล่าวถึงโดยกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมรวมถึงฝ่ายรัฐบาลมักจะกล่าวอ้างว่าการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มีความชอบธรรมด้วยคะเเนนเสียงเห็นด้วยกว่า 16 ล้านเสียง (ไม่เห็นด้วย 10 ล้านเสียง) ส่วนฝ่ายตรงข้ามเช่นกลุ่มผู้ประท้วงรวมถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มักจะโต้แย้งว่าการลงประชามติไม่ชอบธรรมเพราะ 1. จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาก่อนลงประชามติ 2. ไม่สามารถรณรงค์ไม่รับร่างได้ (ถูกห้ามโดย คสช.)

https://www.thairath.co.th/news/politic/1894545

ประชาธิปไตย (Democracy)

ประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองโดยประชาชน โดยอำนาจสูดสุดในการปกครองจะมาจากประชาชน และรัฐบาลจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้หรือมีวาระสิ้นสุด ก็ต่อเมื่อประชาชนผู้เลือกตั้งเห็นว่ารัฐบาลสามารถบริหารงานตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

ประชาธิปไตยอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality)

รู้หรือไม่ว่าการประท้วงก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ถึงแม้เราจะไม่สามารถพูดได้ว่า ประท้วงได้ = ประชาธิปไตย เเต่ถ้า ประท้วงไม่ได้ จะไม่เท่ากับประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

ระบอบเผด็จการ (Dictatorship)

หมายถึง รูปแบบการปกครองแบบซึ่งรัฐบาลอยู่ภายใต้การบริหารของบุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียวแบบมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปัจจุบันการเมืองไทยไม่มีเผด็จการแล้ว แต่ถ้าในอดีตก็คงไม่พ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พรก. ฉุกเฉิน หรือ พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations) 

พระราชกำหนดฉุกเฉินมอบอำนาจสูงสุดแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลในการควบคุมและจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของประเทศ

พรก. ฉุกเฉินคือคำที่คุ้นหูของคนไทยเป็นอย่างดีเนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศใช้จัดการ COVID-19 ตั้งแต่เริ่มจนถึงทุกวันนี้ ข้อกำหนดของ พรก. ฉุกเฉินมีตั้งแต่ การห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยง ให้อำนาจรัฐในการปิดสถานที่ ปิดช่องทางเข้าประเทศ ห้ามการชุมนุม ห้ามกักตุนสินค้า รวมถึงการควบคุมการนำเสนอข่าว

ศัพท์การเมือง

ความเท่าเทียม (Equality)

หมายถึง สิทธิเท่าเทียมของบุคคลและจะไม่สามารถถูกละเมิดได้ในระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น ความเท่าเทียมกันของเพศชายและหญิง การปฎิบัติมาตรฐานเดียวกันต่อคนนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา การปฏิบัติที่เท่าเทียมต่อคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ความเสมอภาค (Equity)

หมายถึง การส่งเสริมสิทธิให้เกิดความเสมอภาคทางโอกาส ถึงแม้จะมีสิทธิเหมือนกันตามหลักความเท่าเทียม แต่โอกาสและพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกันทำให้เข้าถึงสิทธิได้ไม่เท่ากัน

เช่น การส่งเสริมคนพิการ (ด้วยลักษณะทางกายภาพทำให้คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าคนทั่วไปเพื่อให้เท่าเทียม) การส่งเสริมคนชนบทที่ห่างไกลเนื่องจากมีอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงการรักษาพยาบาลตามที่สมควรได้รับ

ศัพท์การเมือง ยังมีอีกมากมายหลายคำที่น่าสนใจ ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนแต่แรกคือคำว่า ปฏิรูป ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากคำนี้ถูกนำมาใช้ทางการเมืองอยู่มากมายหลายครั้งจนผู้เขียนรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะกล่าวถึงเเล้ว

ในบทความนี้ได้นำศัพท์การเมืองที่อยู่ในกระแสมาให้ได้รู้จักและเข้าใจกัน ไม่ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ แต่คำเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายอะไรเพราะ การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องของทุกคน

อ้างอิง