กระแสแบน มู่หลาน ในสื่อในออนไลน์โดยเฉพาะในทวิตเตอร์นั้น ไม่ได้เริ่มต้นมาจากประเทศไทย แต่เริ่มต้นจากประเทศฮ่องกงและลุกลามไปทั่วโลก อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้บอยคอตภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนของดิสนีย์อันโด่งดังในยุค 90 กันแน่

มู่หลานคือหนึ่งในการ์ตูนยอดนิยมตลอดกาลของดิสนีย์ ฉายครั้งแรกในปี 1998 โดยเรื่องราวถูกสมมติขึ้นในประเทศจีนช่วงราชวงศ์ฮั่น (202 BC–220 AD) กล่าวถึงวีรสตรีชาวจีนผู้หนึ่งที่ตัดสินใจออกรบปกป้องประเทศแทนบิดาโดยปลอมตัวเป็นชาย เราสามารถกล่าวได้ว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ต้องการ “Empowering Women” เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าในสังคมจีนผู้ชายเป็นใหญ่เสมอ
จากการ์ตูนยอดฮิตในอดีต สู่ภาพยนตร์คนแสดงในวันนี้ ความคาดหวังด้านรายได้และกระแสนิยมระดับสูงของดิสนีย์กลับต้องระส่ำด้วยผลกระทบจากประเด็นทางการเมืองที่ร้อนระอุ
เรื่องราวทุกอย่างเกิดจากการโพสต์สนับสนุนตำรวจฮ่องกงของนักแสดงนำ หลิว อี้เฟย
เกิดอะไรขึ้นที่ฮ่องกง?
มีนาคมปีที่แล้ว ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงได้ออกมาประท้วงอย่างหนักหลังจากรัฐบาลที่นำโดย แครี่ แลม ตัดสินใจเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีนแผ่นดินใหญ่เข้าสภา ซึ่งผู้ประท้วงเกรงว่าจีนจะใช้อำนาจจับกุมผู้เห็นต่างและส่งตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองไปเผชิญชะตากรรมอันมืดมนในประเทศจีนอย่างไม่เป็นธรรม
ถัดมาในเดือนสิงหาคม ผู้ประท้วงตัดสินใจยึดสนามบินนานาชาติฮ่องกงส่งผลให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงจากตำรวจฮ่องกง นอกจากนี้ตำรวจยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบจนผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนได้รับบาดเจ็บ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในครั้งนี้ถูกประนามจากหลายฝ่ายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
*ปัจจุบันกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงได้ถูกบังคับใช้ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวในหมู่ผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตย อ่านต่อ BBC Thai: ประท้วงฮ่องกง : กฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงคืออะไร และน่ากังวลแค่ไหน
เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้แบ่งความคิดเห็นของผู้คนทั่วโลกเป็นสองทางอย่างเห็นได้ชัด

หลิว อี้เฟย : “ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกง”
ในเดือนเดียวกัน หลิว อี้เฟย นักแสดงชาวจีนที่ได้รับบท มู่หลาน ได้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยต่อสถานการณ์นี้โดยการแชร์โพสต์จากหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่าง People’s Daily ซึ่งมีเนื้อหาว่า “I support the Hong Kong police. You can all attack me now. What a shame for Hong Kong” ซึ่งข้อความดังกล่าวมาจาก ฟู่ กั๋วห่าว นักข่าวโปรจีนที่ถูกผู้ประท้วงจับกุมและรุมทำร้ายที่สนามบินฮ่องกง การโพสต์ครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก รวมถึงสามารถสร้างภาพลักษณ์ของความรุนแรงจากการประท้วงได้เป็นอย่างดี
หลิว อี้เฟย ยังเขียนเเคปชั่นเพิ่มเติมไปในการแชร์ครั้งนี้อีกว่า
ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกงด้วยเช่นกัน ❤️💪
หลิว อี้เฟย
เธอมีผู้ติดตามบน Weibo โซเชียลมีเดียของจีนถึง 65 ล้านคน โพสต์ต้นฉบับมีคน Like ถึง 2 ล้านไลค์ ส่วนโพสต์ที่เธอแชร์มียอดไลค์ถึง 81,000 ไลค์
หลิว อี้เฟย เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงชาวจีนที่เกิดในอเมริกา (ถือสัญชาติอเมริกัน) ปัจจุบันยังคงทำงานในวงการบันเทิงในประเทศจีน
กระแสตีกลับ
หลังจากได้รับคำชื่นชมอยู่ไม่นาน กระแสก็ตีกลับแทบจะทันควันโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ จนเกิดเเฮชเเทค #BoycottMulan หลังจากดิสนีย์ตัดสินใจนำภาพยนตร์เรื่องนี้ลง Disney Plus หนึ่งในทวีตที่น่าสนใจกล่าวไว้ว่า
“เธอสามารถเป็นหนึ่งเสียงที่ทรงพลังในการกำจัดความอยุติธรรม แต่น่าเสียดายที่เธอกลับเลือกจะสนับสนุนความรุนแรง”
ทางฝั่งจีนก็ไม่ยอมง่าย ๆ ติดเเฮชเเทค #SupportMulan สู้ โดยยกหลิว อี้เฟย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและรัฐบาลจีน แต่ท้ายที่สุดบัญชีที่ปั่นเเฮชเเทคเหล่านี้ได้ถูก Twitter ลบกว่า 200,000 บัญชี โดยทางทวิตเตอร์ให้เหตุผลว่า บัญชีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมา Spam ข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง
การบอยคอตกลับมาอีกครั้งพร้อมข้อมูลใหม่
ภาพยนตร์ มู่หลาน เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกในเดือนกันยายน 2020 พร้อมกระเเสบอยคอตอีกครั้ง คราวนี้มีข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจกว่าเเค่การแชร์โพสต์ของนักเเสดงนำ เพราะมีผู้ชมได้เห็น End Credit ของภาพยนตร์กล่าวขอบคุณหน่วยงานราชการในมณฑลซินเจียงหลายแห่ง (เขตการปกครองเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์) รวมถึงสำนักงานรักษาความปลอดภัยในเขตทูหลูฟาน (Turpan) ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์หลายแสนคน
ไม่นานมานี้มีเอกสารลับของทางจีนรั่วไหลออกมาตามสื่อต่าง ๆ โดยเปิดเผยถึงรายละเอียดของการล้างสมองอย่างเป็นระบบ ซึ่งจีนนำมาใช้กับชาวมุสลิมหลายแสนคนเป็นครั้งแรก ที่ค่ายกักกันความมั่นคงสูงหลายแห่ง (BBC Thai: อุยกูร์ : จีนทำอย่างไรในการ “ล้างสมอง” ชนกลุ่มน้อยในค่ายกักกัน)
เขตการปกครองเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์มีชาวมุสลิมอุยกูร์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นปัญหาคาราคาซังของรัฐบาลจีนมาโดยตลอด หากผู้อ่านสนใจประเด็นละเอียดอ่อนนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ BBC Thai: ค่ายลับปรับทัศนคติที่ซินเจียง
อนาคตของ มู่หลาน จะเป็นอย่างไร คงต้องให้รายได้เป็นตัวตัดสิน
การเมืองคือเรื่องใกล้ตัวและเชื่อมต่อกันทั้งโลก
จากข้อมูลที่นำเสนอ จะเห็นได้ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ถึงแม้บริบททางการเมืองของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดายในยุคดิจิทัลแบบนี้
การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้คำนึงถึงแค่คุณภาพหรือราคาเพียงเท่านั้นเเต่อุดมการณ์ทางการเมืองของแบรนด์หรือพรีเซนเตอร์ของแบรนด์สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากทีเดียว
มู่หลาน แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนยอดฮิตในอดีต แต่เมื่อถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางการเมืองที่แบ่งผู้คนออกเป็นสองฝ่าย ก็มีผลทำให้คนดูบางกลุ่มตัดสินใจไม่ไปดูแทบจะทันที
ปัจจุบันการเมืองกับธุรกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ขาดเหมือนเมื่อก่อนเเล้ว การดำเนินธุรกิจคงต้องคำนึงถึงบริบททางการเมืองและสังคมเป็นที่ตั้งสำคัญ แต่ถ้าหากว่าผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่าง “Key Player” ของธุรกิจไปออกความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจสร้างความขัดเเย้ง ก็คงเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องยอมรับและหาทางรับมือกันต่อไป
อ่านเรื่องราวของแบรนด์ กับ จุดยืนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและสหรัฐ อเมริกาได้ที่ https://mktru.com/bizperspective/2020/08/10/brand-politics/
อ้างอิง
https://time.com/5653973/mulan-boycott-liu-yifei/?playlistVideoId=6049928019001
https://www.bbc.com/thai/international-50546395
https://www.bbc.com/thai/resources/idt-sh/China_hidden_camps_thai