10 เทรนด์น่าสนใจของ การตลาดโซเชียลมีเดีย ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2021

0

การตลาดโซเชียลมีเดีย จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปี 2021 คือสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ นักการตลาด และคนในวงการเอเจนซี่ต่างสงสัย ยิ่งพูดถึงความสับสนวุ่นวายของปีนี้เเล้ว การคาดเดาสิ่งที่จะเกิดในปีหน้า อาจดูเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

กระแสบางอย่างที่โด่งดังในปี 2020 นี้ เช่นความนิยมของ Tiktok เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าติดตามต่อว่ากระแสที่ดีในปีนี้ จะสามารถส่งผลไปถึงปีหน้าได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่นานมานี้ Talkwalker บริษัทให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย และ HubSpot บริษัทซอฟท์แวร์ด้านการตลาด ร่วมมือกันสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด 70 คนทั่วโลกถึงแนวโน้ม การตลาดโซเชียลมีเดีย ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า

สามารถอ่านรายงานเต็มได้ ที่นี่

1. คอนเทนต์โดนใจ ต้องถูกดัดแปลง

User-generated content (UGC) หรือ คอนเทนต์ที่ถูกสร้างโดยผู้ใช้แบบ Organic ซึ่งไร้การว่าจ้างใด ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เเต่คอนเทนต์แนว UGC ที่ติดตลาดของปีนี้ซึ่งเห็นบ่อยมากจากโซเชียลมีเดียไฟแรงอย่าง TikTok คือการดัดแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นและนำเสนอในรูปแบบของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อภาพสินค้าที่เพิ่งออกใหม่ในสไตล์ตัวเอง การล้อเลียนการกระทำของบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึง การ Remix เพลงในรูปแบบใหม่

คอนเทนต์ที่น่าสนใจเหล่านี้ แบรนด์ไม่ควรมองข้าม แบรนด์จะยึดติดกับแค่เนื้อหารีวิวสินค้าคงจะไม่ได้เเล้ว เเต่ต้องลองใช้เนื้อหาที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วย

2. คอนเทนต์ 4C รับมือ COVID-19

โควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกของเราไปตลอดกาล ผู้คนหันมาสนใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายและสุขภาพใจ ถึงแม้ในปีหน้า วัคซีนต้านโควิดจะออกมาเเล้ว เเต่เชื่อเถอะว่าผู้คนจะไม่ลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในปี 2020 และยังคงตื่นตัวในเรื่องสุขภาพไม่เปลี่ยนแปลง

แบรนด์ต้องปรับตัวสร้างเนื้อหาโดยยึดหลัก 4C นั่นคือ

  • Community: การสร้างเนื้อหาและสนับสนุนสังคมและความเป็นอยู่
  • Contactless: นำเสนอเนื้อหาการปรับตัวของแบรนด์ในยุคใหม่ที่คำนึงถึง Social Distancing
  • Cleanliness: ความสะอาดคือสิ่งสำคัญที่แบรนด์ไม่ควรมองข้ามที่จะนำเสนอ
  • Compassion: แบรนด์ควรแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อสังคมที่เปลี่ยนไปเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19
To Meme or Not to Meme? Using Memes to Teach Media Literacy Skills | KQED

3. แชทแบบใหม่ ต้องใช้ Meme (มีม)

คนจะใช้ Emoji / GIFs / Sticker น้อยลง เเละหันมาใช้ Meme (มีม) หรือภาพตัดต่อล้อเลียนมากขึ้น แบรนด์เองก็สามารถสร้าง Memes เพื่อให้ผู้คนนำไปแชร์ต่อ สร้าง Brand Awareness ได้อีกด้วย

ความน่าขำขันของภาพมีมทำให้ผู้คนเข้าถึงง่ายและแทบจะไม่ต้องคิดตอนกดปุ่มแชร์เลย

Couple Sitting on Rock Beside Lake

4. การตลาดที่ระลึกถึงความหลัง

ความวุ่นวายที่มีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิดในปีนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มมองย้อนกลับไปคิดถึงวันเก่า ๆ เช่น การแชร์รูปท่องเที่ยวของปีก่อน (Good old days) แบรนด์สามารถนำความรู้สึกเหล่านี้ของผู้คน มาปรับใช้กับรูปแบบการตลาดของแบรนด์ บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องย้อนหวนไปนำเสนอเรื่องราวเก่า ๆ ที่ดีอย่างเดียว แต่อาจจะกล่าวถึงสิ่งในปัจจุบันที่ทำให้คนรู้สึกดีเพื่อหลบหลีกความเป็นจริงที่โหดร้ายของสังคมและเศรษฐกิจ

5. การตลาดผ่านการสนทนา

จำไว้เสมอว่า การตลาดที่ดีคือการสื่อสาร 2 ฝ่าย แบรนด์ไม่สามารถลงโฆษณาป่าวประกาศไปทั่วกรุงและหวังว่าจะได้ยอดขายที่ดี (Hope for the best) เพราะปัจจุบันนี้ สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและซื้อสินค้าในที่สุดเกิดจากการสนทนา ไม่ใช่เพียงแค่ระหว่างพนักงานขาย เเต่รวมไปถึง การถาม-ตอบในโซเชียลมีเดีย ซึ่งหัวข้อสนทนานั้นไม่ควรจะเป็นเพียงเรื่องของแบรนด์เท่านั้น แต่ควรนำเรื่องราวของสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ มาเป็นประเด็นสื่อสารกับลูกค้าด้วย เพราะฉะนั้น แบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับการคุยผ่าน Chat รวมถึงการตอบคอมเมนต์ในโพสต์ต่าง ๆ ด้วย

Two Person Playing Sony Ps4

6. เกม คือ โซเชียลมีเดียที่ทรงพลัง

การ Lockdown ในหลายประเทศส่งผลดีต่อวงการเกม ผู้คนใช้เวลาว่างมาเล่นเกมมากขึ้น การเล่นเกมในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเอามือจิ้มหน้าจอโทรศัพท์ ขยับเมาส์ หรือกดจอยเกมเท่านั้น เเต่เป็นการเข้าร่วมในสังคมเกม พูดคุย ถกเถียงถึงประเด็นต่าง ๆ ในเกม และอาจจะรวมถึงการสนทนาเรื่องราวของสังคมโดยใช้เกมเป็นแพลตฟอร์มอีกด้วย

เรื่องราวของเกมไม่ได้วนอยู่เพียงแค่ตัวเกมเท่านั้น แต่ยังถูกนำเสนอผ่าน Influencer บน Youtube จนทำให้มีคนติดตามคลิปเกมมากมายมหาศาล ซึ่งคนดูบางคนไม่เคยเล่นเกมที่ตัวเองดูด้วยซ้ำ

กระแสของเกมที่พุ่งขึ้นในปีนี้ทำให้แบรนด์ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะเกมกำลังจะเป็นสื่อโซเชียลแห่งใหม่ที่น่าทำการตลาดเป็นอย่างมาก

7. การตลาดแบบเก่าจะกลับมาอีกครั้ง

กระเเสที่โด่งดังบางอย่างมาแล้วก็จากไป บางกระแสยังคงวนเวียนในสังคม ส่วนบางกระแสที่เคยหายลับตาไปก็อาจจะโผล่กลับมาอย่างไม่ทันตั้งตัว

การตลาดไม่ต่างกัน เทคนิคการตลาดที่เคยใช้และล้าสมัยไป อาจจะถูกนำกลับมาใช้เเล้วได้ผลที่ดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้ การลองผิดลองถูกคือเรื่องที่แบรนด์ นักการตลาด และเอเจนซี่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด

ปี 2021 นี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าแบรนด์จะทำการตลาดที่เรียบง่ายมากขึ้น เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมาและเข้าถึงง่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของปีนี้และน่าจะส่งผลถึงปีหน้าคือการกลับมาของ Podcast

Person Holding Turned-on Android Smartphone

8. โซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่ ยังคงปรับตัวได้

ทุกปี จะมีสื่อหลายสำนัก ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา มักออกมาพูดว่าสื่อโซเชียลรายใหญ่บางรายจะหลุดกระแสไป เเละมีเจ้าใหม่มาเเทนที่ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดกว่า 70 คนทั่วโลกที่ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ยังคงเชื่อมั่นว่า โซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่อย่าง Facebook, Twitter, Instagram จะยังคงยิ่งใหญ่ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปเพราะทุนของพวกเขาที่มากพอ ส่งผลให้ปรับตัวต่อโลกยุคใหม่ได้เร็วกว่าใคร

เราน่าจะเห็น Features & Functions ใหม่ ๆ จากสื่อยักษ์ใหญ่เหล่านี้ โดยเฉพาะการนำ Online Shopping เข้ามาในโซเชียลมีเดียอย่างเต็มตัว

หลายคนที่บอกว่าให้หาสื่ออื่นทำการตลาด อาจจะต้องลองกลับมาคิดดูใหม่อีกครั้ง

9. พอกันทีกับ Fake News

การใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์และนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงคือสิ่งดี เเต่การเปิดกว้างของโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถสร้างข่าวปลอมหรือ Fake News ลงโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย

ในช่วงเวลาที่เปราะบางอย่าง COVID-19, การเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ส่งผลให้ Fake News แพร่หลายจากความไม่ประสงค์ดีของคนบางกลุ่ม รวมถึงความตื่นตระหนกในสถานการณ์จนทำให้พลาดที่จะตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์

Fake News จะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อโซเชียลทั้งหลายจะร่วมกันต่อต้านและหยุดยั้ง ล่าสุด Twitter ได้ปรับรูปแบบการ Re-Tweet ที่บังคับให้เห็นข้อความก่อน Re-Tweet เพื่อเตือนสติผู้ใช้ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อความอีกครั้งก่อนกดแชร์

Crowd of People Black and White Photo

10. การตื่นตัวทางการเมืองและสังคมของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ชัดเจนมากของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในยุคนี้คือพวกเขาตื่นตัวต่อเรื่องราวทางการเมือง สังคม สิ่งเเวดล้อม และสุขภาพ เป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเริ่มพิจารณาแบรนด์มากกว่าแค่ราคาและคุณภาพของสินค้า แต่รวมถึงจุดยืนทางสังคมและการเมืองของแบรนด์ด้วย

แบรนด์ต้องปรับตัวด้วยการกล้าที่จะนำเสนอและพูดคุยกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ความอยุติธรรมของสังคม รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม มิเช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะตกกระแส และ ถูกลืมจากผู้บริโภคในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม แบรนด์สินค้า กับ จุดยืนทางการเมืองในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป