สปอนเซอร์ Formula 1 ได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันอย่างไร

2

เงิน เงิน เงิน คือปัจจัยสำคัญให้การแข่งขัน Formula 1 ดำเนินต่อไปไม่ต่างจากกีฬาอื่น ในประวัติศาสตร์ของ Formula 1 เราได้เห็นเหล่าสปอนเซอร์มากหน้าหลายตาตั้งแต่แบรนด์นาฬิกาหรูไปจนถึงบริษัทขนส่ง ปัจจุบันสปอนเซอร์มากกว่า 200 แบรนด์วนเวียนอยู่ในวงการรถสูตรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเอาโลโก้ของแบรนด์ไปแปะไว้บนชุดนักแข่งหรือรถแข่ง รวมไปถึงการเป็นพันธมิตรทำกิจกรรมที่สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

สปอนเซอร์ของกีฬาทั่วโลกคาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านปอนด์ แบรนด์ทรัพย์หนามักจะลงทุนเป็นสปอนเซอร์ในการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกและฟุตบอลโลก ระดับทวีปอย่างฟุตบอล ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก หรือระดับประเทศมหาอำนาจอย่างบาสเก็ตบอล NBA

อย่างไรก็ตาม Formula 1 มีความแตกต่างจากการแข่งขันที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะเป็นรายการกีฬาเจ้าความเร็วระดับโลกเเล้ว ยังจัดแข่งทุกปีต่างจากโอลิมปิกและฟุตบอลโลกที่จัดทุก 4 ปี นอกจากจะจัดปีต่อปีเป็นประจำแล้ว ยังมีการแข่งขันถึง 23 สนาม วนเวียนไปหลายทวีป คาดว่ามีฐานแฟนคลับ F1 รวมกันมากกว่า 500 ล้านคน ด้วยจำนวนกลุ่มเป้าหมายมหาศาลขนาดนี้ การเป็นสปอนเซอร์ทีมแข่งฟอร์มูล่าวันที่แสนแพงก็ดูสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที

ผลประโยชน์แบบไหนที่แบรนด์เหล่านี้ถึงยอมลงทุนสูงเพื่อก้าวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์?

Formula 1 นั้นไม่ใช่มีแต่เพียงแฟนกีฬาที่ชื่นชอบ Motorsport เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าชั้นสูงมากมายที่เข้ามาดูกันเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำ หรือเศรษฐีท้องถิ่น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจแบบ B2B (Business-to-Business) ว่ากันว่า Singapore Grandpix มีคนระดับ CEO มาชมการแข่งขันมากกว่าที่อื่นทั่วโลก ทำให้สิงค์โปรเป็นประเทศที่เหล่าสปอนเซอร์มักเข้าร่วมสร้างเครือข่ายเส้นสายเพื่อโอกาสทางธุรกิจในอนาคต (Networking)

หนึ่งในตัวอย่างของการเป็นสปอนเซอร์ F1 และได้ผลประโยชน์มหาศาลคือบริษัท ROKiT บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ทำธุรกิจหลากหลายเช่นการสื่อสารและเครื่องดื่ม ROKiT เข้ามาเป็นสปอนเซอร์และพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับทีม William F1 ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ถึงแม้ทีมจะทำผลงานได้ย่ำแย่แต่การเป็นสปอนเซอร์ทีมแข่ง F1 ได้เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับ ROKiT มากมายไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการหรือเปิดตัวสินค้าใหม่ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเชื่อว่าการสร้างภาพลักษณ์ผ่าน F1 ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทได้มหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่ ROKiT เท่านั้น เเต่ภาพลักษณ์จากการสปอนเซอร์ทำให้บริษัทที่สนับสนุน F1 ดูใหญ่โตกว่าความเป็นจริงในมุมมองของคนนอก

การลงทุนเหล่านี้ไม่ใช่ได้ประโยชน์เพียงแค่เหล่าสปอนเซอร์เท่านั้น แต่เงินที่นำมาลงทุนจะถูกนำมาใช้พัฒนารถแข่งของทีม การว่าจ้างทีมงาน รวมถึงความดึงดูดนักแข่งฝีมือดี รายได้หลักของทีมส่วนใหญ่กว่าครึ่งมาจากเงินสปอนเซอร์ ถึงแม้บางทีมจะมีเศรษฐีหรือกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของ เเต่การแข่งขัน F1 คือการทำธุรกิจ การรับเงินจากเเหล่งอื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากทีมไหนได้รับเงินสปอนเซอร์น้อย ผลงานในสนามก็มีแนวโน้มจะเเย่ตามไปด้วย

Formula 1
https://www.formula1.com/en/latest/features/2016/10/highs-and-lows—which-f1-track-has-the-most-elevation-changes-.html

เหล่าสปอนเซอร์สามารถเลือกลงทุนใน F1 ได้หลายทางเลือกมาก ไม่ว่าจะเป็นการสปอนเซอร์ทีมแข่ง สนาม หรือ นักแข่งรายคน สปอนเซอร์ที่คุ้นตาในวงการนี้อย่าง DHL, Rolex, Emirates ได้ประโยชน์จากการเป็นสปอนเซอร์สนามแข่งทำให้แบรนด์ของพวกเขาโดดเด่นเป็นสง่าในทุกสนามแข่งทั่วโลก สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ได้มหาศาล การเลือกสปอนเซอร์สนามเเข่งเป็นตัวเลือกที่แพงแต่คุ้มค่ากว่าการเลือกลงทุนกับทีมใดทีมหนึ่ง หากทีมนั้นผลงานไม่ดี หรือเกิดอุบัติเหตุในสนามแข่งจนต้องถอนตัว โลโก้ของแบรนด์ที่ควรถูกโชว์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์จะหายไปทันที (Air time loss)

หากสปอนเซอร์กำลังเจาะตลาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ การลงทุนสปอนเซอร์กับทีมแข่งหรือสนามแข่งดูจะได้ผลดีกว่าการโฆษณาแบบอื่น (เช่นป้ายบิลบอร์ด ที่ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมอะไรไม่ได้) แบรนด์สุราชั้นนำอย่าง Johnnie Walker ที่เป็นสปอนเซอร์สนามแข่งได้สร้างประสบการณ์แปลกใหม่และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับลูกค้าผ่านบาร์เครื่องดื่มอันเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละสนามแข่งขัน แต่แบรนด์ส่วนใหญ่มักเลือกสนับสนุนผ่านทีมแข่งมากกว่า เเม้ว่าจะต้องรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสนามเเข่งอย่างคาดเดาไม่ได้ เเต่การสปอนเซอร์แบบนี้ถูกกว่าและอาจได้ประโยชน์หากนักแข่งของทีมกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง

https://huskichocolate.co.uk/pages/mclaren

เมื่อไม่นานมานี้ Huski Chocolate แบรนด์เครื่องดื่มช็อคโกแลตจากสวีเดน ได้เซ็นสัญญาเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม Mclaren F1 โดยมีโลโก้เด่นชัดอยู่ด้านหลังของสปอยเลอร์รถแข่ง นอกจากนี้ยังทำคอนเทนต์ร่วมกันผ่านสื่อโซเชียลผ่านเเคมเปญ “Hot Chocolate Challenge” ซึ่งมีคนเข้าร่วมและแชร์ระดับน่าพอใจ

การทำงานร่วมกันระยะสั้นระหว่างแบรนด์กับทีมเเข่งก็มีให้เห็นกันทั่วไป โดยมักเป็นแบรนด์แฟชั่น เช่น Rayban ที่ออกแบบเเว่นกันเเดดลาย Ferrari F1 หรือ Tommy Hilfiger ที่ออกคอลเล็คชั่นเสื้อผ้ากับ Mercedes F1 การร่วมงานกันแบบนี้ (Collaboration) สร้างกระแสให้กับแบรนด์ได้ดีมาก รวมถึงยังเพิ่มยอดขายได้อีกเพราะสินค้าที่ผลิตมีจำนวนจำกัด สามารถดึงดูดลูกค้าที่สนใจได้เป็นอย่างดี

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ดัง ๆ ตัดสินใจสปอนเซอร์เพราะเหตุผลของ “คู่แข่ง” ถ้าคู่แข่งตัวฉกาจของแบรนด์มีพื้นที่สื่อผ่าน F1 อีกแบรนด์ก็จะต้องช่วงชิงพื้นที่สื่อคืนด้วยการสปอนเซอร์ทางใดทางหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีแบรนด์นาฬิกาหรูและแบรนด์บุหรี่เป็นสปอนเซอร์ F1 กันมากหน้าหลายตา หาก Rolex มีโลโก้เด่นชัดในกีฬาระดับโลกนี้ Tag Heuer ก็ไม่ลังเลที่จะช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วย เเละนั่นอาจรวมถึง Richard Mille และแบรนด์นาฬิกาอื่น ๆ

หนึ่งในความท้าทายของการเป็นสปอนเซอร์ F1 คือการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลที่ทั้งถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และมี ROI (Return of Investment) ที่ชัดเจนกว่า การเพียงแค่นำโลโก้ไปแปะบนชุดแข่งหรือตัวรถดูจะล้าสมัยเกินไป เเต่การร่วมมือกันแบบพันธมิตรที่ไม่ใช่เพียงการทำการตลาดร่วมกัน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญ ดูจะเป็นทางแห่งอนาคตมากกว่า

Formula 1

การทำแสดงผลงาน (Showcase) ผ่านทีม F1 เป็นเรื่องที่หลายแบรนด์นิยมทำกัน BT สนับสนุนทีม Williams F1 ด้วยการติดตั้งระบบส่งข้อมูลไร้สายภายในสนามแข่งของทีม หรือแบรนด์ที่เราคุ้นชื่ออย่าง Petronas บริษัทน้ำมันสัญชาติมาเลย์เซีย ที่นอกจากจะสนับสนุนทีม Mercesdes F1 ปีละ 75 ล้านปอนด์เเล้ว ยังพัฒนาน้ำมันสำหรับแข่งให้กับทีมอีกด้วย การร่วมมือนี้ส่งผลให้ทีม Mercedes ได้แชมป์นักแข่งและผู้ผลิตถึง 7 ปีติดต่อกัน โดยทั้งฤดูกาลแข่งปีล่าสุดมีเพียงสนามเดียวที่เครื่องยนต์ขัดข้อง นับเป็นการร่วมมือที่เห็นผลและคุ้มค่าที่สุดในรอบหลายสิบปีของ F1 เลยก็ว่าได้

ตัวอย่างอื่นที่น่าสนใจเช่น Unilever สปอนเซอร์ทีม Mclaren F1 ปีละ 1 ล้านปอนด์ แลกกับความรู้ด้านวิศวกรรมสมัยใหม่ของ Mclaren ที่จะช่วยเเก้ปัญหาให้กับ Unilever แต่ไม่ใช่แค่นี้ การที่บริษัทระดับโลกอย่าง Unilever เข้ามาสนับสนุนทีม ทำให้ภาพลักษณ์ของ Mclaren ดูดีขึ้นมากในมุมมองของสปอนเซอร์รายอื่นที่กำลังเจรจาเข้ามาสนับสนุนทีมในอนาคต

Formula 1
https://www.formula1.com/en/latest/article.vote-which-race-has-been-the-best-of-2020-so-far-its-time-to-pick-your.3M5TveYYUlUiA5NMVx3itl.html

สปอนเซอร์และพันธมิตรทางธุรกิจคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Formula 1 ยังดำเนินต่อไปได้ เมื่อเงินทุนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น การพัฒนารถแข่งก็จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อผลงานในสนามแข่ง เห็นได้ว่าทีมที่มีสปอนเซอร์น้อยอย่าง Williams หรือ Hass มีผลงานในสนามที่ย่ำแย่มาก แต่สวนทางกับ Mercedes หรือ Red Bull ที่ยังเติบโตและคว้าชัยในสนามได้ไม่หยุดหย่อน

การสนับสนุนทีมแข่งผ่านการสปอนเซอร์ได้ก้าวข้ามแค่เอาโลโก้ของแบรนด์ไปแปะบนรถแข่งหรือชุดนักเเข่งเเล้ว แต่การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์กับทีมแข่งผ่านแคมเปญการตลาดรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีดูจะเป็นเรื่องที่จับต้องได้มากกว่าในยุคปัจจุบัน

F1 ยังคงน่าดึงดูดสำหรับเหล่าสปอนเซอร์ทั่วโลกไปอีกนาน ด้วยเหตุผลของความนิยมระดับโลกและภาพลักษณ์ระดับสูง เชื่อเลยว่าเราจะได้เห็นแบรนด์หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกต่อคิวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับ Formula 1 อย่างไม่ขาดสายไปอีกหลายทศวรรษ

อ้างอิง

https://drivetribe.com/p/what-role-does-sponsorship-play-ahRoRfI8T72ys_R4nCuHcA

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม

Related Posts