Social Media กำลังล้างสมองเราอยู่หรือเปล่า?

0

คุณเชื่อไหมว่า Social Media กำลังล้างสมองเราอยู่โดยที่เราเองก็เหมือนจะรู้ตัว

ยิ่งโซเชียลมีเดียพัฒนาจนฉลาดขึ้นมากเท่าใด ความแตกแยกและการเสพติดทางความคิดของคนในสังคมก็มีมากขึ้นเท่านั้น

แม้โซเชียลมีเดียจะถูกคิดค้นขึ้นเพื่อ Connect ผู้คนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ มุมมืดของโซเชียลมีเดียคือการป้อนชุดข้อมูลชุดเดิมซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ จนผู้ใช้หลงเชื่อ รวมถึงฟังก์ชั่นสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้เสพติดจนโงหัวไม่ขึ้นจากโทรศัพท์มือถือตรงหน้า

Social Media

ไม่ว่าคุณจะมีทัศนคติทางการเมืองด้านไหน เมื่อคุณเลือกเสพข่าวจากฝั่งนั้นเเล้ว โซเชียลมีเดียก็จะป้อนชุดข้อมูลของฝั่งที่คุณเลือกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งผ่านระบบ Related Contents และ Recommendation จนสิ่งที่คุณอ่านและดู กลายเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกลงหัวสมอง แม้เนื้อหาเหล่านั้นจะไม่ใช่ความจริงเลยก็ตาม

ทำไมฝ่ายเชียร์รัฐบาลถึงมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ยังนิยม แต่กลับกัน ฝ่ายต่อต้านก็มั่นใจว่าคนจะออกมาชุมนุมล้มรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ทำไมคนสองกลุ่มถึงต่างมั่นอกมั่นใจ และกล้าเคลมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ฝั่งตัวเองได้ขนาดนี้?

ก็เพราะ สองกลุ่มนี้ ได้รับเนื้อหาผ่าน Social Media ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!

Social Media

การสรรหา Content มาให้ผู้ใช้อ่าน มาจากการวิเคราะห์ความชอบ พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ และระบบจะป้อนชุดข้อมูลที่คิดว่าผู้ใช้คนนั้น “น่าจะชอบ” ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยไถ Youtube ไหลไปเรื่อย ๆ แบบหยุดไม่ได้เพราะเนื้อหามันช่างตรงใจเสียเหลือเกิน

Social Media เลือกป้อนข้อมูลแก่ผู้ใช้เเต่ละรายอย่างไร? 

  1. AI : Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์
  2. Machine Learning หรือ การเรียนรู้ของ AI
  • ระบบ AI วิเคราะห์เนื้อหาที่เราชอบอ่าน กดไลค์ คอมเมนต์ แชร์ ค้นหา หรือแม้กระทั่งการใช้เวลากับเนื้อหานั้นเป็นเวลานานโดยที่ไม่กดอะไรเลย เช่น ดูวีดีโอจนจบ อ่านเนื้อหาจนครบ
  • ยิ่งเรา Engage กับ Content  มากเท่าไหร่ โซเชียลมีเดียจะยิ่งรู้จักเรามากขึ้นเท่านั้น
  • เมื่อระบบเรียนรู้อย่างมั่นใจแล้วจากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล (Machine Learning) ก็จะป้อนชุดข้อมูลที่เรา “น่าจะสนใจ” เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ผ่านระบบแนะนำ 

ขนาดเราจะ Search หาอะไรสักอย่างบน Google ในขณะที่เรายังพิมพ์ไม่ทันครบประโยค ระบบก็ได้ชี้นำคำค้นหาให้เราเเล้ว

Social Media

จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่า ผู้ใช้แต่ละคนจะได้รับเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณลองเอาโซเชียลมีเดียของเพื่อนสนิทที่สุดของคุณมาเทียบกับคุณดูก็ได้ครับ จะเห็นว่าเนื้อหาของทั้งสองบัญชี มีแนวโน้มจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ในชีวิตจริงจะเป็นเพื่อนรักที่มีเเนวคิดและไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกันมากก็ตาม

เพราะพฤติกรรมออนไลน์ที่ต่างกัน ส่งผลให้ระบบเลือกป้อนชุดข้อมูลที่ต่างกัน

การป้อนข้อมูลแบบนี้ส่งผลเสียอย่างไร? ส่งผลเสียแน่นอนเพราะคุณอาจหลงเข้าไปเจอ Fake News แล้วเผลออ่านจนจบ หลังจากนั้นระบบจะวิเคราะห์ว่าผู้ใช้รายนี้มีโอกาสที่จะชอบเนื้อหาแบบนี้แล้วยัดเยียดชุดข้อมูลที่มีแนวคิดใกล้เคียงผ่านฟังก์ชั่นแนะนำ และเมื่อคุณเชื่อเเล้ว คุณจะอินจนถอนตัวไม่ได้ และเสพติดการใช้โซเชียลมีเดียในที่สุด

Social Media

ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายหน่อย เช่น การหารูปแมวเพียงแค่ 2-3 รูปมาทำรายงานไม่ได้หมายความว่าเราเป็นทาสแมว แต่เมื่อกลับไปเล่นโซเชียลมีเดียอีกครั้งก็พบว่า รูปแมว อยู่เต็มหน้า Feed ไปหมด พอเสพมากเข้า เราก็ดันชอบแมวไปซะอย่างนั้น!?

การรณรงค์ด้านสังคมและการเมืองก็มักใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือหลัก เพราะสามารถทำให้คนคล้อยตามได้ง่ายผ่านการป้อนชุดข้อมูลเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เชื่อไหมว่า ยังมีคนเชื่อว่าโลกแบน เพราะได้รับชุดข้อมูลนี้ในปริมาณมหาศาล

โซเชียลมีเดียสามารถชี้นำและล้างสมองเราได้ด้วยระบบ

ทำไมทุกแฟลตฟอร์มถึงมีระบบพวกนี้อยู่? ก็เพราะว่าพวกเขามองว่า “เวลา” ของผู้ใช้ คือความท้าทายที่ต้องเอาชนะ ยิ่งผู้ใช้จดจ่อกับเนื้อหาที่ชอบและเชื่อมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าเวลาว่างอันน้อยนิดของแต่ละคนจะถูกใช้ไปกับโซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่านั้น

รู้ปัญหาเเล้ว เเก้ไขอย่างไรดี?

  • พัฒนาวิธีคิดของตัวเองให้เท่าทันระบบ เช่น อย่าหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงแค่เค้าเเชร์ต่อกันมา รู้จักหาข้อมูลมาหักล้าง
  • รับฟังข่าวสารรอบด้าน แม้เนื้อหาอีกด้านจะไม่ถูกใจคุณเลยก็ตาม แต่ก็ควรรับรู้ไว้ เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นถูกต้องจริงหรือไม่
  • จำกัดเวลาใช้ Social Media ต่อวันหรือต่อสัปดาห์ หากิจกรรมนอกจอทำ เช่น อ่านหนังสือ หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
  • ลบประวัติการท่องเว็บ (Cache / Cookies / History) และเข้าเว็บผ่าน Private Browser เพื่อหลีกเลี่ยงชุดข้อมูลที่เราไม่อยากรับรู้ในอนาคต
  • ปิด Notification! และเลือกเวลารับข้อมูลเมื่อเราว่างและพร้อมจริง ๆ

ทุกอย่างในโลกมีทั้งให้คุณและให้โทษ อยู่ที่ว่าเราใช้งานมันอย่างไร ถึงแม้ระบบจะฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราพัฒนาความคิด เปิดใจรับข้อมูลรอบด้าน เชื่อเลยว่าเราจะสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ AI และ Machine Learning ต่อได้ที่ เมื่อมนุษย์กลายเป็นเครื่องจักร

อ้างอิง

Netflix : Social Dilemma