เอเรน พีสะเดิด และไททัน จุดร่วมบนความต่าง ของวัฒนธรรม สังคม ชนชั้น และช่องว่างระหว่างวัย

เขาเรียกผมว่าเอเรน2

ช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา บางท่านอาจผ่านตากับเพลงๆนึง ที่มีชื่อฟังดูแปลกหูแปลกตาอย่าง “เขาเรียกผมว่าเอเรน” ที่มาจากปลายปากกาและเสียงร้องของ “พี สะเดิด” นักร้องลูกทุ่งที่สลัดตัวตน “ลูกทุ่ง” แบบเดิมๆ กระโดดลงตลาด “Pop Culture” จนผลิตผลงานที่แปลกใหม่ออกมาได้!

การตัดสินใจครั้งนี้ของ “พี สะเดิด” นับเป็น “ปรากฎการณ์” ที่ฉีกขบบเดิมๆ ทั้งเรื่องตลาด ตัวตน และภาพลักษณ์ ที่สุดท้าย “ให้ผลงานตอบคำถาม” เพราะสามารถทำยอดวิวได้สูงกว่า 4 ล้านวิว ภายในเวลาอันรวดเร็ว!

“ขอสรรเสริญให้ทุกดวงใจที่กำลังสู้ และขอให้ทุกคนสู้เหมือนเอเรน” คำพูดเปิดของ พี สะเดิด ใน MV ของเพลง “เขาเรียกผมว่าเอเรน”

จากจุดเริ่มต้นของ “มีมล้อเลียน” 

ในมุขตลกของความ “หน้าเหมือน” ที่ไม่ถึงกับเป็นการบูลลี่ ด้วยหน้าตาและทรงผมของ พี สะเดิด มีความคล้ายคลึงกับ “เอเรน” ตัวเอกใน “Attack on Titan” มังงะ และอนิเมะ(การ์ตูน) ชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ที่มีฐานผู้อ่านผู้ชมอยู่ทุกมุมโลก! ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละกลุ่มกับคนฟังเพลง “จี่หอย” ของ พี สะเดิด แน่ๆ! 

โดยเฉพาะ Ost. (เพลงประกอบ) ของ Attack on Titan อย่าง “Red Swan” ที่ได้บุคคลในตำนานอย่าง Yoshiki (X Japan) มาเป็นคนแต่ง และได้เสียงร้องของ Hyde นักร้องนำรุ่นเดอะ ผู้มีเสียงเป็นเอกลักษณ์จาก L’arc en ciel ย่อมชัดเจนถึงความคอนทราสต์กันกับ “พี สะเดิด” ได้อย่างคนละขั้ว 

เรื่องราวนี้ บอกอะไรให้แก่เราได้บ้าง?

อย่างแรกคือการ “จับเทรนด์” จับกระแส แล้วพลิกมันให้เป็นโอกาส นั่นคือการปรับตัวที่จับต้องได้ของคนที่มองเห็นมัน ในแวดวงธุรกิจจะเรียกมันสวยๆว่า Resilience / Adaptabillty Skill และเน้นย้ำกันบ่อยๆ ว่ามันคือ “ทักษะแห่งทศวรรษ” ของคนทำงานในยุคนี้เลยทีเดียว

เพราะคนรุ่นเก่าวัยสี่สิบกว่าๆ บางคนที่ไม่เคยแตะต้องทวิตเตอร์ ไม่เก้ตไม่เข้าใจบริบทของ “การสื่อสารยุคใหม่” และหากต้องเจอกับการพูดถึงตน ในรูปแบบ “Meme ล้อเลียน” แล้วออกอาการในขั้วตรงข้าม โมโห โกรธ น้อยใจ หรือเข้าใจมันผิดด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ปลายทางคงออกมา “ไม่สวยงาม” ได้แบบนี้!

อีกสิ่งที่น่าสนใจกว่าเส้นแบ่งระหว่าง คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ นั่นคือการก้าวข้าม “เส้นแบ่งทางวัฒนธรรม” ที่แต่ละสังคมให้คุณค่ากับสิ่งที่ต่างกัน ระหว่าง “Pop Culture” และ “Local Lifestyle” ในรูปของ World Music หรือบทเพลงท้องถิ่น แต่ปลายทางกลับคือ “ผลงาน” ที่ได้ผลตอบรับในเชิงบวกอย่างล้นหลาม

คุณค่าของคนและชนชั้น ผ่านการตีความของศิลปะและเสียงดนตรี

“จี่หอย” เพลงดังสร้างชื่อของ พี สะเดิด ที่นำเสนอภาพชีวิตของ “คนชนบท” ออกมาได้อย่างแยบยล ผ่านเนื้อหาของเพลงและเสียงดนตรี ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานเพลงที่ยอดเยี่ยม และแน่นอนว่าต้องผ่านฝีมือของคนทำงานเพลง ที่ต้องเป็น “มืออาชีพระดับสูง”

ซึ่งเมื่อเทียบระดับกันแล้ว ย่อมไม่แตกต่างกับเสียงเพลงจากนักดนตรีแจ๊สชั้นเลิศที่ให้อารมณ์ “เลิศหรู” ที่ทุกคนให้คุณค่าว่าเป็นดนตรีของระดับชนชั้นที่เหนือกว่า จากความรู้สึกผ่านการตีความ จากเลนส์ที่ตีกรอบไว้จากสังคม

ปรากฏการณ์ “เขาเรียกผมว่าเอเรน” จึงนับได้ว่า เป็นบทเรียนที่ทั้งเบิกเนตร “คนทำธุรกิจและการตลาด” ที่ได้เข้าใจอีกมุมหนึ่งของการทำธุรกิจที่ Come-Across กันได้ ระหว่างตลาดที่อยู่คนละขั้วว่า “มันเป็นไปได้” จริงๆ

และที่สำคัญ คือให้มุมมองที่ดีกับ “เราทุกคน” ด้านการให้คุณค่าและความหมายของสิ่งสิ่งหนึ่ง ซึ่งรวมถึง “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” ผ่านการตีความของเราเอง ภายใต้เลนส์ที่อาจโดน​ “ตีกรอบจากสังคม” ไว้โดยไม่รู้ตัว

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม

Related Posts