9 โมเดลธุรกิจ ฉบับเรือ(ดำน้ำ)เล็ก ๆ เตรียมออกจากฝั่ง : Part 1

0

ในยุคนี้คำว่า Start up เป็นคำที่เห็นผ่านตากันเช้าเย็น หลาย ๆ คนมีไฟอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุนครับ แต่… ก่อนที่เราจะเริ่มลุยไปข้างหน้าแบบดื้อ ๆ เสมือนการคิดที่จะออกจากฝั่งอันแสนสบาย เตรียมมุ่งเข้าสู่ท้องทะเลอันบ้าคลั่งสุดแปรปรวนด้วยแพยางเป่าลม ! (ด้วยความมองโลกในแง่ดี To the max) เรามาเตรียมตัวกันให้พร้อม เหมือนค่อย ๆ สร้างเรือ(ดำน้ำ)เล็ก ๆ แล้วจึงออกไปสู้กับคลื่นยักษ์กันดีกว่า โดยเริ่มต้นกันที่พื้นฐานกันก่อนว่าสิ่งที่เราชื่นชอบกับไอเดียที่เราอยากทำนั้น เราจะวางโครงสร้างการดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบไหน แล้วเราจะไปต่อกันอย่างไรและด้วยวิธีการแบบไหน ?

เรามาเริ่มต้นที่เรื่องแรก คือ การทำความเข้าใจกับโมเดลธุรกิจ (Business Model) กันก่อนดีกว่าครับ

1. โมเดลพื้นฐาน (Basic Model) – จุดเริ่มต้นแรกสุดของการทำการค้า คือการนำเสนอสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลหรือองค์กรใด ๆ จนนำมาซึ่งการซื้อขายระหว่างกัน ขึ้นชื่อว่าพื้นฐานก็พื้น ๆ ตามนี้ครับไม่ซับซ้อนวุ่นวาย แต่… ทุกสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ล้วนไม่จีรังครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา สินค้าหรือการให้บริการที่คุณเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้ได้เดินมาถึงทางตัน

ถึงตอนนั้นทุกคนคงวิ่งออกจากพื้นฐานแล้วทำทุกอย่างให้ซับซ้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ (แน่ล่ะ ถ้ายังไม่อยากปิดกิจการ)

จุดเริ่มต้นแรกสุดของการทำการค้า

 

2. โมเดลค้าปลีก (Retail Model) – เมื่อสถานที่ของคุณมีจุดแข็งคือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดี มีผู้คนมากมายแวะเวียนกันเข้ามาเยี่ยมเยียนโดยไม่ขาดสาย รวมไปถึงการอำนวยสะดวกทางด้านอื่น ๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจเป็นพิเศษให้แก่ลูกค้าได้ คุณสามารถให้เช่าแผงพื้นที่วางสินค้าในสถานที่ของคุณเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ มาวางขายสินค้าได้ โดยคุณอาจจะคิดราคาค่าเช่าในการวางสินค้า หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อการซื้อขายในสินค้าแต่ละชิ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกมุมเมืองอย่างทุกวันนี้ ถ้าเป็นในโลกดิจิทัลคุณอยากเคยได้ยินผ่านหู ผ่านตามาบ้างกับคำว่า Online market place ซึ่งเป็นโมเดลค้าปลีกเช่นเดียวกัน เช่น Amazon, Alibaba, Lazada และอื่น ๆ

ร้านค้าปลีกที่พบได้ในทุกประเภทธุรกิจ

 

3. โมเดลโฆษณา (Advertising Model) – จุดแข็งยังเป็นเรื่องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดีเช่นเดียวกัน เมื่อพื้นที่ใด ๆ ของคุณสามารถทำให้คนมากมายมองเห็นหรือสัมผัสได้ อย่าปล่อยให้โอกาสนี้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ คุณสามารถปล่อยเช่าพื้นที่ให้แก่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งต้องการให้คนจำนวนมากมองเห็นสินค้าหรือการบริการของตนผ่านการโฆษณา เพื่อคาดหวังผลประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่ต่าง ๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือจะกินนิ่ม ๆ โดยสร้างป้ายบิลบอร์ดในพื้นที่ส่วนตัว ติดถนนก็ทำรั้วบ้านทำเป็น Site hoarding ตัวตึกนิ่ง ๆ ก็ทำ Building wrap รวมถึงพื้นที่ใน Mobile app หรือในหน้าเว็บไซต์ (ขอหยุดการคล้องจองคำไว้เพียงเท่านี้…) ในปัจจุบันในหลาย ๆ พื้นที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อซื้อขายกับลูกค้าเองโดยตรง แต่จะมีตัวแทนทั้งหลายมารับช่วงต่อให้โดยใช้โมเดลจับคู่ธุรกิจ (Matching Model) ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อท้าย ๆ

ใช้พื้นที่ตึกได้เป็นประโยชน์กับกระเป๋าสตางค์จริง ๆ ครับ

 

4. โมเดลรวม (Compound Model) – แผนการขายสินค้าหลากหลายประเภทโดยใช้สินค้าตัวใดตัวหนึ่งเป็นตัวเอกในการดึงดูดลูกค้า เพื่อให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าตัวอื่น ๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างร้านอิซากายะ(ร้านเหล้าแบบญี่ปุ่น) ที่อาจชูโรงออกโปรโมชั่นด้วยราคาเบียร์สุดถูก โดยพ่วงเงื่อนไขเล็กน้อย เช่น เพียงแค่ลูกค้ามาดื่มสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนจำนวน 4 คนขึ้นไป ก็จะได้เบียร์ราคาถูกจนเห็นแล้วต้องคิดว่าขาดทุนแน่ ๆ แต่แน่ล่ะ เมื่อดื่มเบียร์สนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนเป็นเวลานาน ๆ ก็ต้องมีของกินแกล้มบทสนทนาให้ออกรสไปด้วยเป็นธรรมดา เมื่อครึกครื้นกันได้ที่ คงจะไม่พ้นสั่งอาหารมากินกันอย่างไม่ยั้ง ถึงเวลานั้นอาหารปิ้งย่างที่ดูแล้วเหมือนจะราคาแพงกว่าปกติก็ดูจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป

ดึงดูดลูกค้าด้วยเบียร์ราคาแสนถูก

 

มาถึงโมเดลที่ 4 แล้วเริ่มจะยาวเกินไป ขอพอเท่านี้ก่อนครับ ติดตามกันต่อได้ใน 9 โมเดลธุรกิจ ฉบับเรือ(ดำน้ำ)เล็ก ๆ เตรียมออกจากฝั่ง : Part 2

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม

Related Posts