ไว้พรุ่งนี้ค่อยทำ

procrastination3

“จะขี้แล้วค่อยมาขุดส้วม” คำตำหนิที่ผมได้ยินคุณย่าพูดบ่อยๆ เวลาไม่ยอมทำการทำงานให้เสร็จ ผัดวันประกันพรุ่งต่อไป 

คำพูดสั้นๆ ที่สะท้อนยุคสมัยของคุณย่า ส้วมหลุมท้ายสวนหลังบ้าน จำเป็นจะต้องถูกขุดไว้ก่อน ถึงจะสามารถใช้การได้เมื่อจำเป็น ไม่ใช่เพียงแต่รอเวลาปวดท้องอุจระ แล้วค่อยไปขุด คงจะไม่ทันการเสีย

“ไว้พรุ่งนี้ค่อยทำ” คำพูดติดปากของผมในสมัยเด็ก ด้วยความคิดที่ว่า การบ้านทำเมื่อไหร่ก็ได้แหละ จนติดกลายเป็นนิสัยเสียอย่างไม่รู้ตัว หากจะเรียกนิสัยแบบนี้ให้ดูสวยหรู มีศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Procrastination หมายถึงพฤติกรรมที่ขอผัดไปก่อน อ้อยอิ่ง ไม่ทำงานที่จำเป็นจะต้องทำเสียที

แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้ “ไม่ได้โง่” พวกเรารู้ดีว่า การจะทำโครงการใดโครงการหนึ่ง มีระยะเวลาเตรียมการนานขนาดไหน และเรามักมีการวางแผนอันสวยหรูถึงระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน “หากเราให้เวลากับโครงการนี้วันละหนึ่งชั่วโมง มันจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน” เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ผู้ผัดวันประกันพรุ่ง แม้มีตรรกะเพียบพร้อมว่าโครงการต้องเริ่มเมื่อไร แต่สมองของเขาไม่สามารถจดจ่อให้ตัวเองต้องทำงานที่ต้องทำได้เลย เขาจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้น นั่งค้นหา google ว่า สัตว์ชนิดใดฉลาดที่สุด หรือ เรารู้ได้อย่างไรว่าลิงถนัดมือขวาหรือมือซ้าย (เรื่องจริง เพราะผู้เขียน google เองแหละครับ ติดตามฟังคำตอบได้ที่ podcast เรื่องรกสมอง)

ที่มาของปัญหาการติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

ก่อนที่เราจะหาวิธีจัดการกับมัน เราควรจะต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของนิสัยนี้ของเราเองให้ชัดเจนก่อน ด้วยเหตุใดเราจึงติดอยู่ในวงจรอุบาวท์แบบนี้

https://gobopicturescomics.wordpress.com/2015/05/15/comic-collab-procrastination/

วงจรอุบาทว์ของการผัดวันประกันพรุ่ง พวกเรารู้เป็นอย่างดีว่า อะไรควรจะทำ แต่การใช้ชีวิตกลับไม่เป็นอย่างแบบแผนที่ควรจะเป็น โดยมีการศึกษาไว้ว่า การที่เรา procrastination หรือผัดวันประกันพรุ่งนั้น ไม่ใช่การด้อยความสามารถในการจัดการเวลาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการจัดการอารมณ์ในการสร้างแรงพลักดันของตนเอง ทั้งนี้รวมไปถึงอารมณ์ไม่ดี โกรธ โมโห เศร้าเสียใจ เบื่อ ไม่พอใจ ไม่มั่นใจ เป็นต้น

เหตุผลกับอารมณ์มักไม่สอดคล้องกัน ของสิ่งที่ต้องทำ เช่น งานทำเอกสารอันแสนน่าเบื่อที่เจ้านายสั่ง หรือภาระที่จะต้องลุกมาล้างรถให้จบๆไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ดูน่าเบื่อ ไม่ตื่นเต้น ไม่น่าสนใจ จึงทำให้เกิดการบอกปัดไปวันอื่นจะดีก่วา

แต่ก็ไม่ใช่ว่างานที่ท้าทายจะเป็นที่สำเร็จเสมอไปหรอกนะ งานที่ยากจนไม่รู้จะเริ่มอย่างไร อาจจะทำให้พวกเรารู้สึกไม่มั่นใจ ตื่นตระหนก และใช้เวลาไปกว่าครึ่งเพื่อหาวิธีเตรียมตัวการเริ่มงานที่ดี

ด้วยการบอกปัดไปวันๆ เหล่านี้ เป็นการสร้างพฤติกรรมเคยชินให้กับสมอง เพราะทุกครั้งที่คุณบอกปัดการทำหน้าที่ เท่ากับว่าคุณจะได้ทำสิ่งอื่นที่สนุกกว่า และสบายกว่า ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังสมองของคุณเปรียบเหมือนรางวัลที่ได้พักผ่อนจากการบอกปัดบางอย่างไป

แล้วเราจะจัดการกับนิสัยเหล่านี้ได้อย่างไร?

หากท่านผู้อ่านเป็นคนที่มักจะบอกว่า “ไว้พรุ่งนี้ค่อยทำ” เหมือนกันกับผมแล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านต้องเคยประสบกับช่วงเวลาแห่งความอัจฉริยะชั่วข้ามคืน เพราะงานต้องส่งแล้วพรุ่งนี้ จึงต้องตะบี้ตะบันอดหลับอดนอนเพื่อให้งานเหล่านั้นเสร็จ

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับพวกเราเหล่าผู้ผัดวันประกันพรุ่ง ความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งต่างๆ แปรผันเพิ่มขึ้นตามเวลาเส้นตายของการส่งงาน ยิ่งเข้าใกล้เส้นตายมากเท่าไหร่ พวกเราจะยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น และความสามารถนี้คือจุดสำคัญในการปรับแก้นิสัยเสียๆ นี่สักที

หลายครั้งที่คนบอกว่า คุณต้องมี “สติ” อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลนัก พวกเรารู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่สามารถผลักดันให้ลุกไปทำในสิ่งที่ต้องทำได้ 

มีหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า วิธีรับมือกับนิสัยแบบนี้ คือจำเป็นต้องกำหนด เส้นตายไว้ถี่ๆ สร้างจุด Check Point ไว้ตลอดทางที่จะต้องทำ และต้องมีบุคคลที่สามร่วมช่วยสักเกตการณ์อีกด้วยจะยิ่งกดดันให้ พวกเรานั่งทำงานกันจริงจังมากยิ่งขึ้น

เช่น กำหนดวันที่จะต้องเขียนบทความให้เสร็จทุกอาทิตย์ แทนที่จะกำหนดรวมเป็นทั้งเดือน หรือได้เป็นแต่ละวันเลยว่า ขั้นตอนไหนเราจะเสร็จอะไรแล้วบ้าง

เทคนิคนี้คือทักษะหลักของ Project Manager หรือผู้จัดการโครงการที่พึงมี ความสามารถในการบริหารจัดการทีมงานให้ดำเนินงานได้ตรงตามระยะเวลา Timeline ที่ต้องการ และลดความผิดพลาดให้น้อยลง และคุณจะเริ่มสามารถใช้เวลา หรือบริหารเวลาในภาพใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

“แต่กระนั้น การใช้ชีวิต กับการทำงาน มันช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

งานต่างๆ มักมีกำหนดเส้นตายของโครงการอย่างชัดเจน แต่หากมองถึงการใช้ชีวิต เส้นตายมันลางเลือนเป็นอย่างมาก คุณเคยมีความคิดที่จะเรียนภาษาที่สอง ภาษาที่สาม เพิ่มเติมหรือไม่? หรือเคยคิดจะเรียนเครื่องดนตรีอะไรสักอย่าง? หรือแม้กระทั่ง ความคิดว่าจะไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด? และในท้ายที่สุด ความคิดเหล่านั้นก็จางหายไป เพราะ “เดี๋ยวค่อยทำก็ได้”

ความกดดันคือเพื่อนของพวกเรา ไม่มีใครชอบความกดดัน แต่ถ้าเราใช้สติและตรรกะพิจารณาแล้วว่า เส้นทางการดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง คุณตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะลดน้ำหนัก จงอย่าเลือกวันเริ่มเป็นวันพรุ่งนี้ แต่จงเลือกวันนี้ และป่าวประกาศให้คนรอบตัวของคุณช่วยเป็นแรงสนับสนุนสู่เส้นทางที่คุณกำลังจะไป

https://aakarsh.substack.com/p/procrastination-ladder-of-inference

(สีแดง สิ่งที่คุณอยากทำ / สีเขียว สิ่งที่คุณควรจะทำ / สีเหลือง สิ่งที่คุณกำลังทำอย่างอื่นเพื่อผัดวันประกันพรุ่งออกไป)

ตั้งจุด Check Point ที่เป็นไปได้

เมื่อคุณบรรลุสู่เป้าหมายระยะสั้นที่กำหนดแล้ว ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง อย่าหลอกตัวเองว่านี่เป็นเรื่องง่ายๆ ทำงานไม่กี่นาทีก็เสร็จ เพราะคุณอาจจะผัดวันมันออกไปในครั้งหน้า และกลับไปค้างเป็นดินพอกหางหมูเช่นเดิม

2 นาที จัดการให้เสร็จ

“If it takes less than two minutes, then do it now.” – David Allen

“ถ้ามันใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที จงทำมันเลยตอนนี้” – เดวิด อัลเลน (ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง และเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน)

อีกหนึ่งวิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้บ่อยที่สุด คือการจัดการเรื่องเล็กน้อยให้จบไปให้เร็วที่สุด คุณควรพิจารณาว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญกับคุณขนาดไหน หากมันไม่ได้สำคัญมาก และใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที จงลงมือทำซะให้เสร็จๆไป ยกตัวอย่างเช่น การขัดรองเท้า คุณรู้ทั้งรู้ว่าการจะบรรจงขัดให้เงาวับ ควรมีลำดับการขัดที่กินเวลามากกว่าสองนาทีนิดหน่อย แต่มันสำคัญมากขนาดไหน ถ้าไม่มาก ก็รีบๆ ขัดให้เสร็จๆ ไปใน 2 นาทีนั่นแหละ คุณจะจัดการชีวิตจบไปได้ทีละเรื่องอย่างรวดเร็ว

และด้วยทฤษฎี 2 นาที ยังกล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมทุกสิ่งที่คุณต้องการสร้างให้เป็นกิจวัตรนั้น สามารถแบ่งย่อยมาเป็นพฤติกรรมภายใน 2 นาทีได้ทั้งหมด เช่น การที่จะต้องรีดผ้าที่ตากเรียบร้อยเป็นกอง จงเปลี่ยนความคิดเป็นการ เริ่มต้นรีดถุงเท้าให้ได้สักสองคู่

หรือการที่คิดจะไปวิ่งออกกำลังกาย จงเปลี่ยนความคิดเป็นการ เริ่มใส่รองเท้าและผูกเชือกรองเท้าให้พร้อม

นั่นคือการย่อยสิ่งที่ต้องทำให้เป็นส่วนน้อยที่สุด เพื่อให้เราเห็นชัด และรู้สึกถึงเป้าหมายที่ไม่ได้ยากเกินกว่าการเริ่มต้นเพียงแค่สองนาทีเท่านั้นเอง

สุดท้าย ผู้เขียนเองก็เป็นมนุษย์ที่ผัดวันประกันพรุ่ง ดินพอกหางหมูเป็นประจำ และพยามหาวิธีการเหล่านี้มาปรับใช้กับทั้งชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนบุคคล เพื่อในท้ายที่สุดแล้ว “จะขี้ ก็มีส้วมพร้อม” นั่นเอง

Entrepreneurship, Credit Analyst, Marketing Executive, Strategic Planning Director and Investor - และทุกวันนี้ ผมยังเป็นนักเรียน ทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงการตลาดนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ฉะนั้นแล้วเราจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้