ความเห็น: 7-11 งดแจกถุงพลาสติก มีผลต่อรายได้ของ ซีพีออลล์ หรือไม่?

ซีพีออลล์0

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ 7-11 ที่มีผลต่อผู้บริโภคคือการงดแจกถุงพลาสติก การตัดสินใจของ CPALL (ซีพีออลล์) บริษัทผู้เป็นเจ้าของ 7-11 ในประเทศไทยในครั้งนี้จะมีผลต่อรายได้อย่างที่ชาวเน็ตคิดหรือไม่ เราลองไปหาคำตอบพร้อมกันครับ

ต้องบอกว่าในปี 2020 นี้ ผู้คนหันมาสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต้องปรับตัวตามแนวคิดใหม่นี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการงดแจกถุงพลาสติก

เหตุผลหลักของการรณรงค์ต่อต้านถุงพลาสติกคือระยะเวลาย่อยสลายของพลาสติกที่ยาวนานระดับร้อยปี รวมถึงพลาสติกบางชนิดก็ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งเมื่อสะสมเป็นเวลานานก็จะก่อให้เกิดปริมาณขยะมหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและอ้อม

บริษัททั้งในและต่างประเทศหันมาสนใจประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้และสิ่งที่พวกเขาทำได้คือการออกนโยบายงดแจกถุงพลาสติกและหันมาใช้ถุงกระดาษหรือจำหน่ายถุงผ้าราคาไม่แพงแทน

เพื่อตอบสนองเทรนด์รักษ์โลกและดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ซีพีออลล์จึงประกาศงดแจกถุงพลาสติกใน 7-11 ทุกสาขาในประเทศไทยตั้งเเต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป

ทำเนียบรัฐบาล: 1 มกราคม 2563 งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว

ไม่ใช่เพียงเเค่ 7-11 เท่านั้นเเต่ห้างสรรพสินค้ารวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำก็ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐอย่างเคร่งครัดและหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากกระดาษแทนพลาสติกเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่าง 7-11 กับห้างร้านอื่นคือ 7-11 งดแจกถุงพลาสติกและไม่มีถุงหรือลังกระดาษเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเลย (ซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Tops และ Big C จะมีลังกระดาษรีไซเคิลสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พกถุงผ้าติดตัวมา)

ถุงพลาสติกก็ไม่มี ถุงกระดาษก็ไม่ให้ นั่นทำให้ผู้บริโภคหลายรายได้รับผลกระทบจนทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าใน 7-11 เปลี่ยนไป

ซุปเปอร์มาร์เก็ต vs 7-11 กับพฤติกรรมของผู้บริโภค

การไปซุปเปอร์มาร์เก็ตของผู้บริโภคมักจะเป็นการทำอย่างมีแบบแผน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสจะพกถุงผ้าหรือเตรียมตัวเพื่อไปขนสินค้าที่ต้องการจะซื้อกลับมา ซึ่งแตกต่างจากการไป 7-11 อย่างสิ้นเชิง

ผู้บริโภคเลือกไป 7-11 ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปจากการไปซุปเปอร์มาร์เก็ต กล่าวคือ 7-11 หวังการสัญจรไปมาของผู้บริโภค (Foot Traffic) มากกว่า ซึ่งการสัญจรแบบนี้มักไม่เกิดอย่างมีแบบแผน (โอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะไม่พกถุงผ้าติดตัว) ยกตัวอย่างเช่น การเดินผ่านระหว่างไปทำงาน หรือ ระหว่างเดินกลับบ้าน นั่นทำให้การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่มาจาก Foot traffic มีข้อจำกัดและไม่สามารถซื้อสินค้าได้เยอะอย่างก่อนเมื่อไม่มีการแจกถุงพลาสติกแล้ว

เมื่อซื้อสินค้าได้น้อยลงเพราะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนก่อน รายได้ของซีพีออลล์ก็น่าจะลดลงไปด้วย?

เรื่องที่กล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดไปเอง เเต่มาจากการสอบถามความเห็นจากคนรอบตัว และได้อ่านหัวข้อสนทนาในเรื่องนี้ในสื่อโซเชียลอย่างแพร่หลายจนกล้าพูดได้ว่าการงดแจกถุงพลาสติกของ 7-11 มีผลต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง เเต่ผลกระทบนี้จะส่งผลต่อไปถึงรายได้ของซีพีออลล์หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

ซีพีออลล์
https://www.finnomena.com/stock/CPALL

รายได้ก่อน vs ระหว่างงดแจกถุง vs สถานการณ์โควิท 19

หากเราดูรายได้รวมของซีพีออล์ตั้งเเต่ต้นปี 2019 จะเห็นได้ว่าบริษัทมีรายได้อยู่ที่ระดับ 140,000 ล้านบาท

ไตรมาสสุดท้ายก่อนประกาศงดแจกถุงพลาสติก ซีพีออลล์มีรายได้ 147,926 ล้านบาท ส่วนไตรมาสที่เริ่มงดแจกถุงพลาสติกคือไตรมาสแรกของปี 2020 บริษัทมีรายได้ 145,855 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างเพียงแค่ 2,077 ล้านบาทเท่านั้น เราอาจจะตอบได้เลยว่าการงดแจกถุงไม่ได้มีผลกระทบต่อรายได้ของ 7-11 อย่างมีนัยยะสำคัญ

การสนทนากันในโลกดิจิทัลถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวางอาจทำให้เรามีข้อสงสัยอยู่บ้าง เเต่เมื่อมาเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ ผู้เขียนมองว่าเเม้ผู้บริโภคจะไม่ได้รับความสะดวกสบายอยู่บ้าง แต่การกระจายสาขาของ 7-11 ที่ครอบคลุมเเทบทุกพื้นที่ในประเทศไทยทำให้ผู้บริโภคไม่มีตัวเลือกมากนัก เเละก็ยังคงต้องซื้อของจาก 7-11 ต่อไป (ปัจจุบัน 7-11 มีสาขาในประเทศไทย 10,268 สาขา)

กระแสในโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่กระแสนั้นจะจริงเท็จและสร้างผลกระทบแค่ไหน ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์

COVID-19 ส่งกระทบรุนแรงมากกว่า

สิ่งที่ดูจะสร้างผลกระทบต่อซีพีออลล์มากกว่าคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิท 19

แม้ในช่วงต้นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบางส่วนจะออกมาให้ความเห็นว่า ซีพีออลล์ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะ 7-11 คือธุรกิจที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในประเทศ เเต่เมื่อเราดูรายได้ของไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาล็อคดาวน์ระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน จะเห็นได้ว่ารายได้ของซีพีออลล์ลดลงอยู่ที่ 128,024 ล้านบาท จากระดับปรกติ 140,000 ล้านบาท มีส่วนต่างถึง 12,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แม้สาเหตุส่วนหนึ่งจะมาจากการขาดรายได้ทางฝั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการหยุดงานของบริษัทจากมาตราการล็อคดาวน์มีผลต่อ 7-11 เป็นอย่างมาก เพราะจำนวนผู้สัญจรไปมา (Foot Traffic) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิท รวมถึงมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านในช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ซึ่งทำให้ 7-11 ทุกสาขาต้องปิดร้านตามนโยบายของรัฐบาล (ช่วงกลางคืนไม่มีผลกระทบเท่ากับช่วงกลางวัน)

อนาคตเป็นเรื่องที่ต้องตามต่อ

แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิทในต่างประเทศยังไม่คลี่คลาย แต่ในประเทศไทยนั้นนับว่าอยู่ในระดับที่ดีต้น ๆ ของโลกนั่นทำให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันจนเป็นปรกติ ซึ่งส่งผลดีต่อ 7-11 เป็นอย่างมาก

เราต้องติดตามดูกันต่อไปว่าในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา ซีพีออลล์จะสามารถกลับมามีรายได้ระดับปรกติโดยหวังพึ่งเเค่ผู้บริโภคในประเทศได้หรือไม่ และการไม่แจกถุงพลาสติกซึ่งทำให้หู้บริโภคมรข้อจำกัดในการซื้อสินค้า (แม้จะมีถุงขายที่หน้าเเคชเชียร์แล้วในปัจจุบัน) จะสร้างผลกระทบต่อรายได้ในอนาคตของบริษัทมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่น่าติดตามชม

ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าการงดแจกถุงพลาสติก แม้จะส่งผลต่อผู้บริโภคแต่จะไม่ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้บริโภคไม่ได้มีตัวเลือกร้านสะดวกซื้อมากนัก ซึ่งนั่นทำให้คิดถึงเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ เเละการผูกขาดที่ว่านี้น่ากลัวกว่าการงดแจกถุงพลาสติกอยู่มากนัก

อ้างอิง

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม