เริ่ม Podcast ทำได้ไม่ยาก

podcast_easy0

ต่อจากบทความก่อน “Podcast ไทย มีอะไรให้น่าติดตามบ้าง” ที่ผมได้แนะนำถึง podcast ที่น่าสนใจของคนไทย ผมก็เชื่อว่า มีหลายท่านที่กำลังคิดอยากจัดรายการ podcast เป็นของตัวเอง และผมบอกได้เลยว่า เริ่ม podcast ทำได้ไม่ยาก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของ podcast ก็คือเนื้อหา และเสียงของคุณในการเล่าเรื่องนั่นเอง

ถ้าบอกแค่นั้น ก็จบบทความได้ล่ะ

แต่ถ้าอยากได้คุณภาพ podcast ที่ดีขึ้น ควรทำอะไรบ้าง

1. คุณภาพของเนื้อหา 

ครั้งแรกที่ เริ่ม podcast นั้น หลายครั้งหลายคราที่เรานึกอยากจะเล่าเรื่องที่เราอยากเล่า จนลืมว่า ผู้ฟังอยากฟังหรือไม่ ทำให้เนื้อหามักถูกวนเวียนอยู่รอบความต้องการของผู้เล่า แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่อาจจะต้องใช้เวลา ลองผิดลองถูก เพื่อเฟ้นหาความต้องการของผู้ฟังอย่างแท้จริง และเมื่อ podcast ของคุณอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่น่าฟังน่าติดตาม ฐานผู้ฟังอันเหนียวแน่นก็จะต้องเป็นของคุณอย่างแน่นอน

2. คุณภาพเสียง 

แน่นอนว่า podcast เป็นสื่อที่รับได้จากการฟังเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะมีบางประเภทที่ใช้ วีดีโอ และภาพประกอบการเล่าเรื่อง แต่ขอให้จำเสมอว่า ผู้ชม สามารถทนได้กับภาพคุณภาพต่ำ แต่ผู้ชม มักจะทนไม่ได้เลยเมื่อต้องฟังเสียงคุณภาพต่ำ หากคุณเปิด youtube แล้วสัญญาณอินเตอร์เน็ตแย่จนต้องเปิดระดับความละเอียดที่ 240p หรือ 360p คงยังทนดูได้หากฟังรู้เรื่อง

ภาพไม่ดีคนทนดูได้ แต่ถ้าเสียงไม่ดี คนทนฟังไม่ได้

ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำว่า ให้ใช้ไมค์อัดจะได้เสียงที่ฟังง่ายและชัดที่สุด โดยไมค์ราคาถูกและเกือบทุกคนน่าจะมีก็คือ ไมค์จากหูฟังโทรศัพท์มือถือนั่นแหละครับ แน่นอนว่าเสียงคงไม่ได้คุณภาพดีแบบไมค์ราคาสูง แต่ไมค์จากหูฟังช่วยลดเสียงรบกวน หรือเสียงก้องกังวานจากสภาพแวดล้อมได้ดีทีเดียวเชียว หรือถ้าไม่มีจริงๆ เอามือถือ ยกขึ้นมาอัดเสียงจ่อที่ปาก ก็ยังได้เสียงที่ชัดเจนไม่น้อย

ถ้าใครมีงบประมาณอยู่บ้าง ผมอยากแนะนำไมค์ที่ดีขึ้นมาหน่อย บางประเภทก็สามารถเสียบ USB ได้ โดยไม่ต้องต่อผ่าน Audio Interface เลยก็มีครับ ซึ่งจะเป็นการต่อผ่าน USB เข้าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง

หากบางท่านบอกว่าเท่านี้ยังไม่พอ ฉันต้องการความ professional มากขึ้นอีกระดับ ก็หาไมค์ชนิดต่อ XLR และต่อเข้า Audio Interface ได้เลย ซึ่งเจ้าตัว Audio Interface จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่ได้รับในรูปแบบอนาล็อก (analog) เป็นรูปแบบดิจิตัล (digital) ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถบันทึกได้ คุณก็จะได้คุณภาพเสียงที่ชัดเจนที่สุด

การต่อไมค์แบบ USB ที่สามารถต่อเข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้โดยตรง credit: https://virtuosocentral.com/how-to-connect-a-microphone-to-a-laptop-for-recording/
การต่อไมค์ XLR ผ่าน Audio Interface เข้าสู่ คอมพิวเตอร์ credit: https://virtuosocentral.com/how-to-connect-a-microphone-to-a-laptop-for-recording/

3. คุณภาพภาษา 

แม้คุณจะมีเครื่องอัดและไมค์ราคาหลายหมื่นแล้ว แต่ยังออกเสียงอักขระผิดเพี้ยนฟังยาก คงจะไม่เป็นเรื่องดีแน่สำหรับคนฟัง เพราะหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้ทำ podcast นั้น คือการมีหน้าที่ในการสื่อสารที่ได้มาตรฐาน นอกจากช่วยส่งเสริมหลักการใช้ภาษาแล้วนั้น ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตัวคุณเองเป็นอย่างมากในการ เริ่ม podcast

ทั้งนี้ในเรื่องของคุณภาพภาษานั้น การเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้ฟังก็สำคัญ เช่นการใช้คำหยาบมักจะเป็นภาษาต้องห้ามของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภาษา วัฒธรรม สภาพสังคมนั้น คำหยาบหลายคำถูกใช้เพื่อแสดงถึงตัวตนในบางสิ่งบางอย่าง หรือบริบทบางบริบทได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานผู้ชมที่คุณจะสื่อสารด้วย หากเป็นเด็ก การใช้ภาษาที่หยาบคายก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสักเท่าใดนัก โดยประเด็นการเลือกลักษณะภาษานี้ก็เป็นปัจเจกตามแต่ผู้จัดจะต้องการล่ะครับ ดังจะสังเกตได้ว่าหลายช่องวัยรุ่น ก็มีการใช้ภาษาที่อาจถูกมองว่าหยาบในสายตาของผู้ใหญ่ก็เป็นได้

4. การตัดต่อ

การตัดต่อนั้นอาจจะไม่จำเป็นสักเท่าไหร่นัก เพราะถ้าหากคุณมีความสามารถในการเล่าเรื่องที่ดีอยู่แล้ว การตัดต่อก็แทบไม่จำเป็นเลยสักนิด แต่หากในฐานะมือใหม่แห่งวงการ podcast ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีอาการตื่นไมค์บ้างไม่มากก็น้อย ลองกลับไปฟังเสียงของเราที่อัดกันดูสิครับว่า เรามีพวกคำอุทานหรือคำเอ่อ เยอะไหม เช่น เอ่อ… อ่า… ก็… นะครับ… ซึ่งคำเหล่านี้มักจะออกมาจากปากด้วยความเคยชิน และไม่รู้สึกตัว แต่จากมุมมองของผู้ฟังแล้วนั้น มันอาจจะมีเยอะไปจนน่ารำคาญ การใช้เครื่องมือตัดต่อ จะช่วยให้ข้อความของคุณฟังดูเรียบร้อยลื่นไหลน่าฟัง และคุณยังสามารถที่จะตัดต่อลบช่องว่างเด๊ดแอร์ (dead air) ที่บางครั้งคิดคำพูดไม่ออก ซึ่งจะทำให้ podcast โดยรวมของคุณมีความกระชับน่าฟังเป็นอย่างดี หากพูดถึงโปรแกรมการตัดต่อนั้น ผมอาจจะแนะนำได้แค่ส่วนโปรแกรมที่ทำงานบน Mac OS เท่านั้น นั่นก็คือ GarageBand ที่มีให้ใช้งานฟรีทั้งใน iphone ipda และเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac ทุกเครื่องนั้นเอง ส่วนเพื่อนๆ ที่ใช้ระบบวินโดว์นั้น ผมเคยได้ยินว่าโปรแกรม Audacity ก็มีคุณภาพที่ดีในระดับสูงเลยทีเดียว

ตัวอย่างหน้าจอการใช้งาน GarageBand

5. การอัพโหลด podcast

เมื่อเราเสร็จสิ้นกับการอัดเสียง และพร้อมที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ คุณจะต้องคำนึงถึงช่องทางการส่ง podcast เหล่านี้ขึ้นไป โดยการทำงานของ podcast นั้น อาจจะแตกต่างกับ Youtube ที่คุณคุ้นเคยกันเล็กน้อย เพราะ Youtube เพียงแค่คุณ upload แล้วไฟล์ของคุณก็จะถูกใช้ได้ทันทีในเว็บของ Youtube โดย Youtube เปรียบเสมือน hosting และช่องทางการดูไปในตัว แต่สำหรับ เริ่ม podcast นั้น hosting กับ ช่องทาง อาจจะแยกออกจากกันได้ครับ

5.1 ขั้นแรกเราจะต้องหา hosting เพื่อนำไฟล์ของเราขึ้นไปวางบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการ hosting ไฟล์เสียงอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น 

5.2 และเมื่อหลังจากเราได้นำไฟล์ podcast ของเราขึ้นสู่ hosting แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการกระจายช่องทางการฟังต่างๆ ที่คนนิยมใช้ฟัง เช่น apple podcast ในมือถือ iphone หรือผู้ใช้งานกลุ่ม MacOS และยังมีช่องทางอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น spotify, google podcast, podbean เป็นต้น ซึ่งวิธีการกระจายนี้ คุณจะต้องนำ RSS Feed จาก hosting ไปวางตามช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสและกลุ่มผู้ฟัง หรือหากคุณใช้ Anchor แบบผม (เจ้าอื่นอาจจะมี) จะมีระบบอำนวยความสะดวก กระจายข้อมูลสู่ 7 Platforms ชั้นนำ ซึ่งรวมถึง Apple podcast และ Spotfiy อีกด้วย (Spotify ได้ซื้อกิจการ Anchor ไปนั่นเอง)

ตัวอย่างช่องทางต่างๆที่คนนิยมฟัง

6. ภาพ Artwork

แม้ podcast จะเป็นการเล่าเรื่องราวผ่านเสียง หากไม่ต่างกับอัลบัมเพลงฮิต ก็ต้องมีปกสวยๆ ให้เป็นอาหารตาอยู่บ้าง ดังนั้นคุณควรใช้เวลาสักนิด ทำรูป cover สำหรับช่องของคุณให้น่าดึงดูด เพราะสิ่งแรกที่ผู้ฟังจะได้รับจากคุณ ไม่ใช่การได้ยินเสียง แต่หากเป็นการเลื่อนนิ้วผ่าน แล้วเห็นรูปเล็กๆ (thumbnail) ที่น่าสนใจ จึงกดเข้ามาฟัง ดังนั้นแล้วอย่าปล่อยให้ cover ช่องของคุณเป็นรูปว่างๆ ดูไม่น่าสนใจ

thumbnail example in app
ตัวอย่าง thumbnail ที่คุณจะได้เห็น

7. การตลาด

หลังจาก podcast ของคุณออกสู่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทำสื่อนั้น ก็ไม่ต่างกับการออกสินค้าหรือบริการใหม่ คุณจำเป็นที่จะต้องเริ่มทำตลาดเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายผู้ฟังของคุณให้ชัดเจน มีการวางเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร และหาช่องทางสื่อออกไปถึงการมีตัวตนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้คงจะหนีไม่พ้นแหล่งโซเซียล แฟลตฟอร์ม (Social Platform) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twiiter, Tiktok ฯลฯ โดยอย่าลืมนำบทเรียนการตลาดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเป้าหมายที่ปัจจุบัน Facebook ดูจะมีอายุมากกว่า Instagram หรือ Twiiter และ พฤติกรรมการเสพสื่อ ก็แต่ต่างกันไปอีกด้วย

ทั้งนี้ในเรื่องการตลาดอาจจะมีหัวข้อย่อยอีกมากมาย  และเราจะมาวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรม podcast กันต่อไปครับว่าเป็นอย่างไร