หมุดคณะราษฎร กับการเดินทางผ่านกาลเวลา

คณะราษฎร0

หนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้คือเหตุการณ์ หมุดคณะราษฎร 2563 ความคิดเห็นของคนไทยถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน มีฝ่ายที่เห็นด้วยซึ่งมาจากกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีแนวคิด เสรีนิยม กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจากกลุ่ม อนุรักษ์นิยม ที่มองว่าการกระทำครั้งนี้ไม่มีประโยชน์และสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายโบราณสถานอย่างสนามหลวง

บทความนี้ไม่ได้มาเเสดงความคิดเห็นหรือตัดสินความถูกผิดของการฝังหมุดคณะราษฎรยุคใหม่ เเต่จะมาเล่าความเป็นมาของหมุดคณะราษฎรในอดีตที่มีเรื่องราวข้ามกาลเวลาจนมาถึงปัจจุบัน

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย 01.jpg

การปฏิวัติสยาม – ๒๔๗๕

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรนำโดยนายทหาร ข้าราชการ และพลเรือนกลุ่มหนึ่งทำการปฏิวัติประเทศซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร (ชั่วคราว) ถูกประกาศใช้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกครั้งโดยกลุ่มข้าราชการการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ นับเป็นวันรัฐธรรมนูญจวบจนปัจจุบัน

หมุดคณะราษฎร

หมุดคณะราษฎร – รำลึกปฏิวัติสยาม – ๒๔๗๙

๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ผ่านไป 5 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกถูกประกาศใช้ กระทรวงมหาดไทยได้ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรขึ้นบนลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อรำลึกการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด

หมุดทองเหลืองนี้จารึกข้อความไว้ว่า “๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

หมุดคณะราษฎร

การหายไปอย่างลึกลึบของหมุดคณะราษฎร – 2560

เมษายน 2560 หลังผ่านการปฏิวัติสยามมา 85 ปี มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรได้หายไปอย่างลึกลับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการชี้แจงใด ๆ จนเกิดข้อสงสัยในหมู่ประชาชน

ไม่ใช่เพียงแค่การหายไปของหมุดคณะราษฎรเท่านั้น เเต่ยังมีหมุดใหม่มาฝังแทนที่ซึ่งมีเนื้อหาบนหมุดว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญ ยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ปัจจุบัน หมุดนี้เป็นที่รู้จักในนาม “หมุดหน้าใส”

https://prachatai.com/journal/2020/04/87066

การลบประวัติศาสตร์คณะราษฎร 2560 – 2563

หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุสมัยปฏิวัติสยามชิ้นเดียวเท่านั้นที่หายไป ตั้งแต่พ.ศ. 2560 เป็นต้นมามีการเปลี่ยนชื่อรวมถึงย้ายรูปปั้น อนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรเกือบทั้งหมดโดยบางกรณีไม่มีคำอธิบายจากทางการ อาทิ

  • การหายไปของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ที่ตั้งอยู่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปสถานที่ใด (กบฏบวรเดชคือเหตุการณ์ที่คณะทหารกลุ่มหนึ่งต้องการทำรัฐประหารรัฐบาลของคณะราษฎรแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ)
  •  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหารจาก “ค่ายพหลโยธิน” จังหวัดลพบุรี เป็น “ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ย่อว่า “ค่ายภูมิพล”
  •  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหารจาก “ค่ายพิบูลสงคราม” จังหวัดลพบุรี ว่า “ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ย่อว่า “ค่ายสิริกิติ์”
  • การเปลี่ยนชื่อค่ายทั้งสองในจังหวัดลพบุรี มาพร้อมกับการย้ายอนุสาวรีย์ในค่ายของสองผู้นำคณะราษฎรอย่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าอนุสาวรีย์ทั้งสองถูกย้ายไปสถานที่ใด
  • ป้ายข้อความ “บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม” จังหวัดเชียงราย ถูกเปลี่ยนเป็น “ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์”

ยังมีอีกหนึ่งความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของคณะราษฎรที่ยังไม่ถูกลบ นั่นคือ “ถนนพหลโยธิน”

หมุดคณะราษฎร

ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2 – 2563

ช่วงเช้า วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563 แกนนำกลุ่มประท้วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2 บนพื้นที่สนามหลวง การฝังหมุดครั้งนี้เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์โดยมีแนวคิดว่า “อำนาจจะกลับมาที่ราษฎรอีกครั้ง” (นายพริษฐ์ ชิวารักษ์)

หมุดทองเหลืองมีนี้เส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว ซึ่งนำมาจากกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มักนำมาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ประท้วง และหนา 2.563 นิ้ว ตรงกับตัวเลขปี พ.ศ. 2563 บนหมุดมีรูปชูสามนิ้ว พร้อมจารึกข้อความว่า “20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

ข้อความบนหมุดดัดแปลงมาจาก “ประกาศปฏิวัติสยาม” ของคณะราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

หลังผ่านไป 1 วัน วันที่ 21 กันยายน 2563 หมุดคณะราษฎร 2563 ได้ถูกรื้อถอนออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม