Theranos กรณีศึกษาการล่มสลายของบริษัทใน Silicon Valley

Theranos4

การเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลเลย์ สร้างแรงบันดาลใจมหาศาลจนทำให้บริษัทรุ่นใหม่อยากเจริญรอยตาม มีหลายบริษัทที่มีศักยภาพมากพอที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่ “ท่าดี ทีเหลว” ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุดคงไม่พ้น Theranos

Theranos ก่อตั้งโดย Elizabeth Holmes ในปี 2003 ขณะที่เธอมีอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น จุดมุ่งหมายของบริษัทคือการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลกซึ่งสามารถนำเลือดแค่หยดเล็ก ๆ หยดเดียว (Tiny drop of blood) ไปตรวจหาโรคได้หลายร้อยชนิด ฟังแล้วก็ดู “เกินจริง” ไปมาก แต่ก็นั่นเเหละครับ มันเป็นเรื่องเกินจริงไปทั้งหมด จนสุดท้าย บริษัทที่เคยระดมทุนจนมีมูลค่ารวมถึง 9,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ก็พังทลายจนไม่เหลือค่าอะไรเลย

Review: In 'The Inventor,' Elizabeth Holmes dazzles, but keeps her secrets

1. Elizabeth Holmes

อลิซาเบธ โฮล์ม เกิดมาในครอบครัวฐานะร่ำรวย พ่อของเธอ คริสเตียน โฮล์ม ทำงานตำแหน่งสูงในองค์กรใหญ่มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นรองประธานบริษัทพลังงานอย่าง Enron รวมถึงดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐอีกมากมาย

อลิซาเบธมีความทะเยอทะยานและอยากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่ยังเด็ก ในปี 2002 เธอได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนที่ Stanford University สาขา Chemical Engineering (วิศวกรรมเคมี) เธอเลือกเรียนสาขานี้เพราะมองว่าเป็นประตูสู่ Biotechnology (เทคโนโลยีชีวภาพ) ซึ่งสามารถนำพาเธอไปสู่ความสำเร็จที่คาดหวังไว้ได้

Theranos subleasing Palo Alto headquarters - Business Insider

2. หยุดเรียนมาก่อตั้ง Theranos

หลังจากเรียนได้เพียงไม่กี่เดือน อลิซาเบธก็เริ่มคิดเรื่องลาออกมาเปิดบริษัทแล้ว แต่กว่าเธอจะลาออกจริง ๆ ก็ผ่านไปอีก 1 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากการที่เธอไปฝึกงานที่ Genome Institute of Singapore (สถาบันจีโนมของสิงค์โปร์) ในปี 2003 ขณะที่โรค SARS กำลังระบาดอย่างหนักในเอเชีย การฝึกงานครั้งนี้อลิซาเบธรับหน้าที่ตรวจหาเชื้อไวรัสจากการเจาะเลือดรวมถึง Nasal Swab ซึ่งเธอมองว่าเป็นวิธีที่โบราณคร่ำครึและเชื่อว่ามันต้องมีหนทางที่ดีกว่านี้

หลังจากกลับมาที่บ้านเกิด เธอตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยและก่อตั้ง Theranos (Therapy + Diagnosis) อุปกรณ์ชิ้นแรกที่เธอคิดค้นมีชื่อว่า “TheraPatch” แผ่นแปะแขนอัจฉริยะที่เจาะเลือดผ่านเข็มขนาดเล็กโดยผู้ใช้ไม่รู้สึกเจ็บ หลังจากได้เลือดแล้ว ตัวไมโครชิพที่ฝังอยู่ในแผ่นจะวิเคราะห์ว่าคนไข้ควรจะได้รับยาในระดับเท่าไหร่ ผลวิเคราะห์นี้จะส่งไปถึงแพทย์เจ้าของไข้ผ่านระบบ Wireless

ด้วยเส้นสายที่กว้างขวางของครอบครัวและมีแนวคิดที่น่าสนใจ อลิซาเบธ โฮล์ม สามารถระดมทุนรอบแรกได้สูงถึง 6 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นสุดปี 2004

3. ความท้าทายเริ่มต้นขึ้น

ท้ายที่สุด TheraPatch ก็เป็นเพียงแค่ทฤษฎีในหน้ากระดาษ โฮล์มเริ่มต้นใหม่ด้วยการคิดค้น Edison อุปกรณ์ที่สามารถตรวจโรคได้หลายชนิดด้วยเลือดเพียงหยดเดียว คนไข้ต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว เเล้วนำเลือดนั้นไปเข้าเครื่องอ่านเพื่อวิเคราะห์ถึงโรคต่าง ๆ และผลลัพท์จะถูกส่งไปที่คอมพิวเตอร์ของแพทย์เจ้าของไข้ผ่านระบบ Wireless ซึ่งถ้าเครื่องนี้ใช้งานได้จริง คนไข้จะสามารถตรวจเลือดได้บ่อยตามต้องการ และเเพทย์ก็สามารถปรับยาตามผลตรวจได้บ่อยขึ้น

Theranos Founder Elizabeth Holmes Indicted on Fraud Charges - The New York  Times

4. วัฒนธรรมองค์กรที่แปลกประหลาด

การพัฒนาอุปกรณ์ล้ำสมัยในอุดมคติของโฮล์มก็นับเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับความเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หนำซ้ำองค์กรนี้ยังมีการบริหารจัดการที่แปลกประหลาด อัตราการลาออกก็สูงลิ่ว (มีความคิดเห็นไม่ตรงกับโฮล์ม หรือทำงานไม่หนักพอในระดับที่พอใจก็เสี่ยงจะถูกไล่ออก) งานชิ้นเดียวแต่มีทีมรับผิดชอบสองทีมต้องเเข่งขันกัน ทีมไหนมีผลลัพท์ที่แย่กว่าก็มีสิทธิถูกไล่ออก การสื่อสารข้ามแผนกหรือสู่ภายนอกไม่สามารถทำได้เพราะบริษัทกลัวเรื่องความลับรั่วไหลเป็นอย่างมาก และทั้งหมดนี้มีระบบการบริหารแบบ “Centralization” โดยโฮล์มเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว

อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่เข้าใจยากนี้มาจากผู้บริหารระดับสูงที่ชื่อว่า “Sunny” ซันนี่คือนักลงทุนและเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Theranos นอกจากมีหุ้นแล้ว ซันนี่ยังมีตำแหน่งใหญ่รองจากโฮล์ม ซันนี่เป็นคนที่โฮล์มไว้ใจให้มาดูแลกิจการภายในบริษัท ใครจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของซันนี่เป็นสำคัญ (พนักงานต้องประจบประแจงเพื่ออยู่รอด) ว่ากันว่าซันนี่และโฮล์มมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งโดยไม่เปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นคนอื่น

John Sasaki on Twitter: ".@VP Joe Biden visits @theranos to talk  #healthcare at the #biotech firm w/ new blood testing technology. #KTVU at  5. http://t.co/mALJwbB5Ah"

5. เกือบถูกไล่ออกจากบริษัทตัวเอง

หลังจากพัฒนา Edison มาระดับหนึ่ง โฮล์มก็เริ่มเอาเครื่องที่ว่านี้ไปนำเสนอแก่นักลงทุน แต่ปัญหาคือ Edison ใช้งานไม่ได้จริงอย่างที่อวดอ้างไว้เลย ผลวิเคราะห์ของเลือดไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงเกิด Error บ่อยครั้ง นอกจากนี้ การคาดการณ์รายได้ที่โฮล์มจัดทำขึ้นก็ดูไม่สมเหตุสมผล ยังไม่รวมถึงการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริษัทได้รับรายงานเรื่องราวเหล่านี้จากพนักงานในบริษัทเองจนทำให้บอร์ดตัดสินใจปลดโฮล์มทันที

โฮล์มถูกเรียกตัวไปรับทราบการตัดสินใจนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าเธอใช้เวลาในการประชุมทั้งหมดโน้มน้าวว่าจะปรับตัว รวมถึงบริหารงานอย่างโปร่งใสขึ้น เพื่อให้เธอยังได้ทำหน้าที่ต่อไป และสุดท้ายเธอก็ไม่ถูกปลดจากตำแหน่ง ส่วนคนที่ไม่รอดคือคนที่นำเรื่องของเธอไปรายงาน

Craving Growth, Walgreens Dismissed Its Doubts About Theranos - WSJ

6. Walgreens

วอลกรีนส์ คือเครือร้านขายยาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของ Theranos โดยลงทุนสูงถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 50 ล้านสำหรับค่าอุปกรณ์ของเทรานอส และ 25 ล้านสำหรับให้บริษัทกู้ยืม

เหตุผลหลักที่วอลกรีนส์ร่วมลงทุนกับ Theranos โดยไม่ตั้งคำถามอะไรมีเหตุผลอยู่ 2 ประการคือ 1. “ไม่อยากตกรถ” โดยผู้บริหารของวอลกรีนส์ในยุคนั้นมองว่า Theranos จะเติบโตและสร้างรายได้มหาศาล 2. “เชื่อมั่นในอลิซาเบธ โฮล์ม” ความสามารถในการเจรจาหว่านล้อมของอลิซาเบธมีส่วนสำคัญที่ทำให้วอลกรีนส์ตกลงสนับสนุนเงินทุนอย่างง่ายดาย

เเผนงานของวอลกรีนคือการปรับพื้นที่ในร้านขายยาให้เป็น Theranos Wellness Center สำหรับตรวจเลือดด้วยเครื่องของ Theranos ซึ่งสิ่งที่บริษัทได้รับไม่ใช่ความสำเร็จแต่กลับเป็นความล่าช้าจากฝั่ง Theranos ตลอดมา

ตั้งแต่วันที่เซ็นสัญญาจนถึงวันเปิดตัว Wellnes Center ทาง Wallgreens เองไม่เคยได้รับตัวเครื่อง miniLab มาใช้หน้างานเลยโดยทาง Theranos ยกข้ออ้างสารพัดจนสุดท้ายต้องส่งผลเลือดไปตรวจที่แล็ปของ Theranos แทน

Theranos Announces Layoffs, Shift to miniLab - United States

7. The miniLab

ปัญหาของ Edison คือสามารถตรวจเลือดหาโรคได้เพียงไม่กี่ชนิดซึ่งผิดไปจากการนำเสนอของโฮล์มต่อนักลงทุนทั่วโลกว่าอุปกรณ์ของ Theranos สามารถตรวจได้มากกว่า 100 โรค โฮล์มจึงคิดค้น miniLab โดยศึกษาการทำงานของเครื่องตรวจต่าง ๆ ในตลาด และหวังว่าจะเอาทุกฟังก์ชั่นของแต่ละเครื่องมายำรวมกันให้ได้ภายในเครื่องเดียว (หนึ่งในเครื่องที่สั่งซื้อมาจาก Siemens)

หน้าตาของ miniLab เปรียบเสมือนเครื่องปริ๊นท์ที่มีช่องสำหรับใส่ตัวอย่างเลือด โดยคอนเซปท์ยังคงเป็นแบบเดิมคือ เมื่อนำเลือดที่อยู่ใน Nanotainer (หลอดเก็บเลือดขนาดเล็ก) เข้าเครื่องตรวจ เครื่องจะประมวลผลและส่งผลตรวจกลับมาที่คลินิค

8. ผลาญเงินลงทุนอย่างไม่เข้าเรื่อง

ในปี 2011 อลิซาเบธได้จ้างน้องชายของตัวเอง คริสเตียน โฮล์ม เข้ามารับตำแหน่งใหญ่ในแผนก Product Development คริสเตียนเองไม่ได้จบสายเคมี และไม่มีประสบการณ์การทำงานอะไรมาก่อนเลย นอกจากนี้เขายังได้ชักชวนเพื่อน ๆ ของตัวเองเข้ามาร่วมทีมอีก โดยเเต่ละคนเป็นเพียงเเค่เพื่อนสนิท ไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานทั้งนั้น งานที่ทำแต่ละวันก็หมดไปกับการอ่านข่าวกีฬาหรือคอยรับใช้อลิซาเบธหรือซันนี่ตามที่สั่งเท่านั้น

Safeway giving workers $2/hour raise during COVID-19 outbreak - Climate  Online

9. Safeway

เซฟเวย์คือบริษัทซุปเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ของอเมริกาที่ร่วมลงทุนกับ Theranos ความตั้งใจของเซฟเวย์คือการสร้างคลินิคในซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาของบริษัทเพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ (เนื่องจากประสบปัญหารายได้ลดลงมาหลายปี) เเละเมื่อวันที่ miniLab พร้อมใช้งานก็กลับไม่ถูกส่งมาที่สาขา ทาง Safeway จึงทำได้แค่เจาะเลือดและส่งผลตรวจไปให้กับ Theranos เท่านั้น ปัญหาที่พบเจอมีมากมายเช่น ผลตรวจได้กลับมาช้า รวมถึงไม่ตรงกับความจริงจนต้องเอาเลือดของคนไข้ไปตรวจซ้ำในแล็ปที่เชื่อถือได้ (แล้วผลก็ออกมาคนละเรื่อง)

นอกจากนี้แล็ปที่ทำการตรวจผลจากเครื่อง miniLab ก็สร้างขึ้นมาแบบลวก ๆ เจ้าหน้าที่ตรวจผลก็ไม่ได้มีใบอนุญาตหรือความเชี่ยวชาญอะไร (ผู้คุมงานที่เชี่ยวชาญถูกซันนี่ไล่ออกเพราะตั้งคำถามกับวิธีการทำงานของแล็ป) ซึ่งแน่นอนเรื่องเหล่านี้ Safeway ไม่เคยรู้

Unpacking the innards of Theranos's new Zika-detection box | TechCrunch

10. พยายามขาย miniLab ให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ

แม้ miniLab จะไม่เคยออกผลตรวจที่แม่นยำเลย เเต่ก็ไม่ได้ทำให้ความทะเยอทะยานของอลิซาเบธหมดไป อลิซาเบธใช้เส้นสายของครอบครัวติดต่อกองทัพเพื่อนำเสนอเครื่อง miniLab โดยความหวังว่ากระทรวงกลาโหมจะสนใจนำเครื่องนี้ไปใช้ที่แนวหน้าสนามรบ ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ของทหารในพื้นที่ห่างไกล แต่ยังโชคดีที่พันโท David Shoemaker ผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมไม่อนุมัติเพราะวิเคราะห์แล้วว่าเครื่องที่ว่านี้ไม่สามารถใช้ได้จริง

Theranos promises first peek at the science of its blood tests

11. สร้างภาพเป็น Steve Jobs 2

หนึ่งในความไม่จริงใจของอลิซาเบธ โฮล์ม ที่หลายคนเคลือบแคลงสงสัยคือ ทำไมต้องเลียนแบบ Steve Jobs มากขนาดนี้? อลิซาเบธมักเลือกใช้เสียงทุ้มต่ำในการสัมภาษณ์ออกสื่อเสมอ (เสียงไม่เป็นธรรมชาติ เธอเคยหลุดเสียงของตัวเองในรายการหนึ่งซึ่งมีโทนแหลมสูง) เธอยังเเต่งตัวด้วยเสื้อคอเต่าแขนยาวแบบเดียวกับสตีฟไม่มีผิดเพี้ยน นอกจากนี้เธอยังจ้างเอเจนซี่โฆษณาเจ้าเดียวกับที่ทำให้ Apple มายาวนานอย่าง Chiat/Day (TBWA) มาดูแลเเคมเปญการตลาด ปรับภาพลักษณ์ สร้างเว็บไซต์ รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานใน Wallgreens และ Safeway ด้วย

Theranos | Branding, Website Design, Web and Mobile Apps | Baseline.

12. หลอกหลวงเพื่อระดมทุน

แม้ miniLab จะไม่สามารถใช้งานได้จริง แต่ด้วยภาพลักษณ์ของอลิซาเบธที่ถูกกล่าวถึงในฐานะ “New Steve Jobs แห่งวงการแพทย์” ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากมาย โดยในปี 2014 สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีก 100 ล้านเหรียญ นั่นทำให้มูลค่ารวมของ Theranos สูงถึง 9,000 ล้านเหรียญ

แต่ที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งคือ ไม่มีกลุ่มทุนไหนมาจากธุรกิจด้านการแพทย์เลยสักราย เงินทุนส่วนใหญ่มาจาก นักการเมือง กองทุน และ ค้าปลีก

13. ความจริงเริ่มเปิดเผย

Tyler Shultz หลานของ George Shultz (หนึ่งในคณะกรรมการของ Theranos ที่ศรัทธาในตัวอลิซาเบธเป็นอย่างมาก) ได้เริ่มเข้ามาทำงานที่ Theranos เเล้วต้องพบกับความไร้ประสิทธิภาพของ miniLab รวมถึงบรรยากาศการทำงานที่ไม่ต่างจากระบอบเผด็จการ ไทเลอร์ตัดสินใจลาออกและนำเรื่องไปบอกกับคุณปู่จอร์จ โดยที่ปู่ก็ไม่เชื่อและยังเข้าข้างอลิซาเบธดังเดิม

ในขณะเดียวกัน John Carreyrou นักข่าวสายการแพทย์ของ Wall Street Journal ได้รับข้อมูลบางอย่างถึงความไม่ชอบมาพากลของ Theranos และเมื่อยิ่งสืบลึกลงไป ความฉ้อฉลก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

หนึ่งในคนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Theranos คือไทเลอร์ แต่สิ่งที่จอห์นยังขาดคือหลักฐานที่ระบุว่า miniLab ใช้งานไม่ได้จริง

Theranos documentary review: The Inventor's horrifying optimism | TechCrunch

14. จุดเริ่มต้นของการล่มสลาย

John Carreyrou เริ่มออกตามหาหลักฐานโดยติดต่อแพทย์ที่เคยตรวจคนไข้ด้วย miniLab หลังได้รับข้อมูลจากแพทย์หลายคน จอห์นเริ่มประติดประต่อได้แล้วว่าอุปกรณ์อัจฉิรยะของ Theranos มีโอกาสใช้ไม่ได้จริงสูงมาก นอกจากนี้การวัดผลที่ผิดนอกจากจะทำให้คนไข้ตกใจแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไข้ได้อีก เช่น

  • ผลเลือดออกมาระบุว่ามีโรคเสี่ยงหลายอย่าง พอคนไข้ไปตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งที่แล็ปชั้นนำกลับไม่พบความผิดปรกติอะไรเลย
  • ผลเลือดระบุว่าเป็นโรคที่อาจเป็นเหตุให้หัวใจวาย จนคนไข้ที่กำลังเตรียมตัวบินไปต่างประเทศต้องยกเลิกแผน

จอห์นอยากพิสูจน์ความจริงด้วยตัวเองจึงลองไปตรวจที่ Walgreens สิ่งที่จอห์นประหลาดใจมากเมื่อไปถึง คนไข้จะต้องเลือกจากเมนูว่าต้องการตรวจอะไรบ้าง ซึ่งบางอย่างไม่ได้เจาะเลือดแค่ปลายนิ้วอย่างที่โฆษณาไว้ เเต่ต้องเจาะเลือดจากต้นแขนเหมือนที่อื่นทั่วไป ไม่กี่วันต่อมา จอห์นได้รับผลตรวจจากทั้ง Theranos และแล็ปการแพทย์ชั้นนำ เมื่อเทียบผลดูจะเห็นได้ว่ามีค่าหลายอย่างที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ผลตรวจจากแล็ปบอกว่าค่า LDL (ไขมันไม่ดี) สูงกว่าปรกติ แต่ผลตรวจของ Theranos กลับบอกว่าค่าไขมันอยู่ในเกณฑ์ดี

จอห์นคิดว่าข้อมูลที่เขาค้นคว้ามาน่าจะใกล้ได้ตีพิมพ์แล้ว แต่จอห์นไม่รู้เลยว่ากำลังเล่นกับอะไรอยู่..

Fortune-Forbes-E-Holmes.2 - ICT&health

15. Empire Strikes Back

Theranos สืบทราบมาว่าไทเลอร์คือหนึ่งในคนให้ข้อมูลกับ Wall Street Journal และทำการกดดันไทเลอร์อย่างหนักจนสุดท้ายจบด้วยการฟ้องร้อง นอกจากนี้อดีตพนักงานของ Theranos รวมถึงแพทย์ทั้งหมดที่เคยให้ข้อมูลกับจอห์นก็ได้รับจดหมายฟ้อง รวมถึงถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนัก จนไม่กล้าให้ข้อมูลกับจอห์นอีกเลย

ส่วนของจอห์นเองได้โอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารของ Theranos เป็นครั้งแรกหลังจากถูกปฏิเสธมาหลายครั้ง เเต่ผลสุดท้ายจอห์นกลับไม่ได้อะไรเลยโดยทุกคำถามที่จอห์นถาม Theranos กลับเลี่ยงที่จะตอบโดยให้เหตุผลว่าเป็นความลับของบริษัท

16. ไปต่อไม่รอแล้วนะ

ข่าวดีสำคัญของ Theranos ในช่วงนี้คือ 1. ได้รับอนุมัติการตรวจเลือดเพื่อหา HSV-1 จากปลายนิ้ว (FDA Approval) 2. รัฐอริโซน่าอนุมัติการตรวจเลือดโดยไม่ต้องมีเอกสารคำขอจากแพทย์ (Theranos วิ่งเต้นเรื่องนี้จนสำเร็จ)

สองประเด็นนี้ทำให้ Theranos ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสื่อทั่วประเทศ รวมถึงได้ลงข่าวใน Wall Street Journal ที่จอห์นทำงานอยู่ด้วย หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของจอห์นคือ หนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ของ Theranos คือ Rupert Murdock ซึ่งเป็นเจ้าของ Wall Street Journal นั่นเอง (ลงทุนรวมถึง 125 ล้านเหรียญ)

อลิซาเบธพยายามทำทุกวิถีทางให้ Wall Street Journal เลิกสืบสวนเรื่องของบริษัทเธอ เเต่ Rupert Murdock ตอบกลับเธอไปว่า “ผมเชื่อใจทีมงานของผม”

17. ตุลาคม 2015

หลังจากรวบรวมหลักฐานได้ในระดับน่าพอใจ บทความ “A Prized Startup’s Struggled” ก็ถูกเผยแพร่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2015 บนหน้าแรกของเว็บ Wall Street Journal บทความนี้ได้กระแสตอบรับที่ล้นหลาม เนื้อหาบอกเล่าเกี่ยวกับการตรวจเลือดที่ผิดพลาด รวมถึงการหลอกว่าใช้ miniLab วิเคราะห์ผลเลือดแต่เเท้จริงแล้วเเอบใช้เครื่องตรวจยี่ห้ออื่นด้วย

หลังจากบทความนี้กลายเป็น “Talk of the Town” เกิดการตอบโต้จากฝั่ง Theranos อย่างรุนแรง

*หัวข้อบทความได้ถูกเปลี่ยนในปี 2016

Theranos will stop operating labs and fire 40% of its workers, plans to  sell devices instead - ExtremeTech

18. จุดจบ

ไม่ใช่เพียงแค่บทความของจอห์นเท่านั้น เเต่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่าง CMS และ FDA ของสหรัฐยังทำการสอบสวนห้องแล็ปของ Theranos เมื่อพบสิ่งผิดปรกติหลายอย่างจึงถอนใบอนุญาตของ Theranos ทั้งหมด

เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ Theranos ใกล้ถึงจุดอวสาร

19. สละเรือ

หลังจากที่หลักฐานต่าง ๆ ออกมาเปิดเผยเเล้วว่า Theranos กับ miniLab คือเรื่องโกหก นักลงทุนรวมถึงกลุ่มทุนทั้งหลายต่างออกมาฟ้องร้องค่าเสียหายจาก Theranos จนในที่สุด อลิซาเบธ โฮล์ม ก็ลาออกและถือเป็นจุดสิ้นสุดของบริษัทลวงโลกในปี 2018

จากบริษัทที่ดูเหมือนจะเติบโตเเบบสุดกู่ จนระดมทุนได้ถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อผ่านไป 15 ปี มูลค่าของบริษัทกลับไม่ต่างอะไรจากเศษดิน

Elizabeth Holmes: rise and fall of Theranos founder facing trial - Business  Insider

20. ปัจจุบัน

อลิซาเบธ โฮล์ม รวมถึง ซันนี่ ถูกดำเนินคดีโทษฐานฉ้อโกงเเละจะมีการไต่สวนในวันที่ 9 มีนาคม 2021 ปัจจุบันอลิซาเบธอาศัยอยู่กับสามีในซานฟรานซิสโกและไม่ได้ใส่เสื้อคอเต่าสีดำอีกต่อไปแล้ว..

ธุรกิจที่ดีไม่ได้มาจากความเก่งกาจของผู้ก่อตั้งเท่านั้น แต่การใช้จริยธรรมนำพาธุรกิจ มีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อทั้งผู้บริโภค พนักงาน ผู้ถือหุ้น รวมถึงต่อตัวเอง คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

อ้างอิง

หนังสือ Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup by John Carreyrou

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม