หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) กับการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร

หมู่เกาะแฟโร2

หมู่เกาะแฟโร คือ ประเทศในทวีปยุโรปที่มีเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอันโดดเด่นแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย สาเหตุหลักที่หมู่เกาะนี้ได้รับความนิยมจากเหล่าช่างภาพและนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกมากกว่าเพราะภูมิประเทศที่แปลกตา เดินทางมาง่าย รวมถึงมีธรรมชาติที่งดงามหาที่เปรียบได้ยาก

แม้หมู่เกาะนี้จะมีเเต่สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าหลงใหล เเต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ไม่ดีพอ นักเดินทางทั่วโลกคงไม่รู้จักหรือมาเยือนสถานที่แห่งนี้เป็นแน่ ในบทความนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังสนุก ๆ ว่า ประเทศหมู่เกาะที่อยู่สันโดษกลางมหาสมุทรแอตแลนติกนี้ ใช้เทคนิคการตลาดอย่างไรถึงดึงดูดคนให้มาเที่ยวได้มากเกินความคาดหวังขนาดนี้

หมู่เกาะแฟโร
บ้านหลังคาหญ้า เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ หมู่เกาะแฟโร

หมู่เกาะแฟโร คือประเทศในทวีปยุโรปที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะมากมาย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่นี่มีประชากรเพียง 50,000 คนเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวมักพูดติดตลกว่าประเทศนี้มีประชากรแกะมากกว่าประชากรคนเสียอีก! เพราะไม่ว่าจะเดินไปไหนมักจะเจอฝูงแกะเต็มไปหมด ส่วนเศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาการประมงเกือบจะ 100% (Bakkafrost บริษัทหมู่เกาะแฟโรที่ส่งออกปลาแซลมอนใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก) ที่นี่ยังมีสายการบินแห่งชาติอย่าง Atlantic Airways ซึ่งเป็นสายการบินเดียวที่บินลงหมู่เกาะนี้ (บินตรงจากอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สเปน และไอซ์แลนด์ ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ประมาณ 7,000 – 10,000 บาท แล้วเเต่ช่วงเวลาเดินทาง)

หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและนำเสนอภาพการท่องเที่ยวของ หมู่เกาะแฟโร คือ Visit Faroe Islands ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งโดยรัฐ รูปแบบการนำเสนอจะใช้ภาพที่สวยงามเป็นตัวสื่อสารหลักพร้อมเนื้อหาข้อความที่อ่านแล้วรู้สึกเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ของแพล็ทฟอร์ม Social Media ทุกช่องทางโดยเน้น Instagram เป็นพิเศษ

แต่ไม่ใช่เพียงแค่จัดตั้งหน่วยงานเเล้วจบพิธีเท่านั้น เเต่ Visit Faroe Islands ยังมีรูปแบบการทำการตลาดที่น่าสนใจดังนี้

หมู่เกาะแฟโร
www.visitfaroeislands.com

ออกแบบเว็บไซต์ที่คำนึงถึง UX / UI

ทุกองค์กรย่อมต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกเว็บไซต์จะมีคุณภาพ แนวคิดการออกแบบเว็บไซต์ที่ดีต้องคำนึงถึงสองเรื่องสำคัญคือ 1. UX – User Experience การออกแบบโดยต้องการให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์มีประสบการณ์การใช้งานที่ดี เรียบง่าย รวมถึงต้องมีการจัดระเบียบข้อมูลอย่างเป็นระบบ 2. UI – User Interface การออกแบบหน้าตาของเว็บไซต์ให้สวยงาม มีเอกลักษณ์และตอบโจทย์กับภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้น ๆ

เมื่อเข้าเว็บไซต์ www.visitfaroeislands.com เเล้ว เราจะเห็นว่าเว็บไซต์มีการออกแบบที่น่าสนใจ สบายตา ใช้งานง่าย แบ่งแยกหมวดหมู่เนื้อหาชัดเจน และเพียบพร้อมไปด้วยข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยว เว็บไซต์อาจจะไม่ได้มีดีไซน์ที่ดูหวือหวา (ไม่ได้ WOW ขนาดนั้น) แต่ภาพรวมการใช้งานเว็บไซต์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีแผนจะเดินทางมา หมู่เกาะแฟโร เเทบไม่ต้องเปิดดูเว็บไซต์อื่นอีกเลย (จบในที่เดียว)

อัพเดทข่าวสารและภาพถ่ายผ่าน Social Media อยู่เสมอ

คุณภาพของเนื้อหาและความสม่ำเสมอของการโพสต์คือสิ่งสำคัญในการใช้ช่องทาง Social Media เพื่อการโปรโมทอย่างมีประสิทธิภาพ และนี่เป็นสิ่งที่ Visit Faroe Islands ทำอย่างสม่ำเสมอ หากมีโอกาสได้ติดตามการท่องเที่ยวของ หมู่เกาะแฟโร ผ่านสื่อโซเชียลอย่าง Facebook หรือ Instagram รับรองว่าต้องรู้สึกทึ่งกับภาพที่นำเสนอ (ส่วนใหญ่เป็นภาพจากช่างภาพมืออาชีพหรือ Blogger จากทั่วทุกมุมโลก) รวมถึงเนื้อหาที่เขียนได้อย่างน่าประทับใจในเกือบทุกโพสต์

นอกจากนี้หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สามารถส่งข้อความผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จะตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเตรียมข้อมูลให้เราอย่างครบถ้วน

ใช้พลังของ Influencer ในช่องทาง Instagram ให้เป็นประโยชน์

ถ้าเราเข้า Instagram เเล้วค้นหาเเฮชเเท็ค #visitfaroeislands หรือ #faroeislands เราจะพบกับคลังภาพมหาศาลของหมู่เกาะแฟโรจากหลากหลายสถานที่ ด้วยจำนวนภาพที่สวยงามมากขนาดนี้ ทางหมู่เกาะแฟโรก็ไม่ปล่อยโอกาสทิ้งไป หรือนำมาแค่ Re-post เเล้วให้เครดิตเท่านั้น แต่ยังมอบสิทธิให้กับช่างภาพที่น่าสนใจมา “Take over” บัญชีอินสตาแกรมของ @visitfaroeislands แล้วลงภาพที่ตัวเองชอบพร้อมเขียนเเคปชั่นด้วยภาษาของตัวเองในระยะเวลาหนึ่ง

วิธีนี้นับเป็นวิธีที่แปลกใหม่ทีเดียวเพราะสามารถเพิ่มความหลากหลายให้กับการโปรโมทการท่องเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ

การท่องเที่ยวแบบ Remote Tourism

ในช่วงที่ทุกคนต้องอยู่บ้านจากสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ตัวหมู่เกาะแฟโรเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ฝ่ายการท่องเที่ยวไม่ต้องการปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างสูญเปล่า จึงคิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “Remote Tourism” ถ้าจะให้แปลแบบเข้าใจง่ายก็คือการท่องเที่ยวแบบควบคุมด้วยรีโมต! ในแต่ละวันจะมี Live Video จากจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศผ่านเว็บไซต์ https://www.remote-tourism.com ซึ่งเราต้องต่อคิวจองรีโมตที่ว่านี้ เเต่ละคนจะมีเวลาใช้รีโมตประมาณ 30 วินาที (ไม่เคยต่อคิวทันเลย!) สามารถควบคุม ขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวา และมีอีก 2 แอ็คชั่นให้เลือกคือ กระโดด และ วิ่ง เมื่อผู้ชมกดปุ่มอะไรก็ตาม คนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดก็ต้องทำตามนั้น

นับว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวในยุคโควิทที่น่าสนใจทีเดียว แต่น่าเสียดายที่บางครั้งมีปริมาณผู้เข้าชมเยอะเกินไปจนทำให้มีผลต่อการรับชมพอสมควร (สามารถไปดูวีดีโอย้อนหลังแบบไม่กระตุกได้ภายหลัง)

ลงทุนงานด้านวิดีโออย่างจริงจัง

เราต้องยอมรับว่าในยุคนี้ คนเลือกจะ “ดู” มากกว่า “อ่าน” หมู่เกาะแฟโรจึงลงทุนผลิตสื่อวิดีโอออกมามากมายโดยมีแนวคิดการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู ตัววิดีโอมอบความรู้สึกที่สงบนิ่งแล้วปล่อยให้คนดูค่อย ๆ อินไปกับภาพบรรยากาศที่วิดีโอนำเสนอ

ภาพเคลื่อนไหวที่สวยงามเหล่านี้ ช่วยให้เราตัดสินใจไปเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ได้ง่ายขึ้นมากยิ่งขึ้น

Closed for Maintenance, Open for Voluntourism

แคมเปญเพื่อสังคมที่โปรโมทการท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโรไปในตัว แนวคิดของแคมเปญคือการรับสมัครอาสาสมัครจากทั่วทุกมุมโลกให้มาช่วยบูรณะสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่เกาะ เช่นทำถนน ทางเดิน ทำป้าย เป็นต้น ซึ่งเเคมเปญนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีอาสาสมัครเข้าร่วมเกือบ 6,000 คน อายุตั้งแต่ 18 ถึง 77 ปี จาก 95 ประเทศทั่วโลก แคมเปญนี้เริ่มเมื่อปี 2019 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่ในปีนี้เจอสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไปในปี 2021

Close for Maintenaince : ปิดเพื่อปรับปรุง / Open of Volutourism : เปิดเพื่ออาสาสมัครส่งเสริมการท่องเที่ยว

ก็ประเทศมันสวย ช่วยไม่ได้จริง ๆ

นั่นแหละครับคือสาเหตุหลักที่ทำให้การตลาดของหมู่เกาะแฟโรประสบความสำเร็จ

มาสรุปกันเป็นข้อ ๆ อีกครั้งว่าทำไมการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวของ หมู่เกาะแฟโร ถึงประสบความสำเร็จขนาดนี้

  1. มีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ
  2. มีเว็บไซต์คุณภาพและคำนึงหลักออกแบบ UX / UI
  3. อัพเดทภาพถ่ายที่สวยงามและเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่เสมอในทุกช่องทางออนไลน์
  4. ใช้ประโยชน์จาก Influencer / Blogger ใน Instagram อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. คิดค้นการท่องเที่ยวแนวใหม่ “Remote Tourism” แม้อยู่บ้านก็เที่ยวได้
  6. ลงทุนงานด้านวิดีโออย่างจริงจัง
  7. คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และคิดเเคมเปญโปรโมทที่ตอบรับกับแนวคิดนี้
  8. เมื่อสินค้าดี ทำการตลาดก็จะง่ายตามไปด้วย (แต่ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด!)

และนี่คือรูปแบบการตลาดทั้งหมดของ หมู่เกาะแฟโร หรือ Faroe Islands ครับ จะเห็นว่าแม้ประเทศจะห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติและตั้งอยู่อย่างสันโดษกลางมหาสมุทร แต่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวก็ไม่ละเลยที่จะก้าวทันตามโลกและใช้เทคโนโลยีรวมถึงสื่อออนไลน์มาช่วยโปรโมทประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ลองให้เรื่องราวเหล่านี้เป็น Case Study เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจ และ กลยุทธ์การตลาดของคุณผู้อ่านดูนะครับ

อ้างอิง

www.visitfaroeislands.com

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม

Related Posts