สำเร็จด้วยความเรียบง่าย – อิเกีย (IKEA)

bizperspective-IKEA0

girl go gap

ใครเคยคิดว่ารูปแบบการเดินเหล่านี้เป็นความจริงกันบ้างครับ?

แน่นอนหละ ผมคนหนึ่งเลยที่คิดอย่างนั้น ก็แหม…คุณผู้หญิงทั้งหลาย พยายามจะบอกว่าฉันไม่ได้เดินมั่วไปหมดแบบนั้นแหละ แต่ฉันจะเดินมันทุกล็อค! แล้วถ้าเจอของที่อยากได้ล่ะ? เดี๋ยวจะเดินกลับมาใหม่! ทำเอาเราเหล่าผู้ชายต้องเดินขาลากกันเลยทีเดียว 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เนี่ยแหละคือสิ่งที่ผู้ค้าขายต้องการที่สุด ยิ่งเดินผ่านเยอะ ยิ่งมีโอกาสขายของเยอะ อะไรที่มันอาจจะขายยากๆ คนเห็นเยอะๆ อาจจะทำให้ขายออกมันสักคนก็เป็นไปได้นะ ลองสังเกตถึงการนำหลักการเหล่านี้มาใช้ในห้างสรรพสินค้ากันสิครับ ไม่ว่าจะซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งไหน อาหารการกินที่ต้องจับจ่ายใช้สอยบ่อยที่สุดกลับอยู่มุมในสุด ทำให้เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคขนมขบเคี้ยวเอย เครื่องดื่มเอย และอีกมากมายที่ทำให้เราต้องหยิบติดไม้ติดมือมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้ของการเดินเข้าไปในสุดนั่นเอง

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว อิเกีย (IKEA) เลยขอทำแบบนี้บ้าง สร้างทางเดินให้มันต้องผ่านมันทุกแผนกมันซะเลย แหม… อย่างนี้มันต้องได้อะไรสักอย่างติดไม้ติดมือบ้างแหละ ก็ไม่รู้ว่านอกจากสินค้าถูกแล้ว เป็นเพราะทางเดินอย่างกับเขาวงกตหรือเปล่าที่ทำให้ขายดิบขายดีจนขยายไปได้หลายประเทศทั่วโลกกันเลยทีเดียว

เรื่องของการออกแบบทางเดินเพื่อชมสินค้านั้นก็เลยมีความสำคัญไม่ใช่ย่อยเลย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานกิจกรรม โปรโมตสินค้า โชว์รูม หรืออีเว้นเปิดตัวใหญ่ๆ ล้วนแต่ต้องคิดว่านอกจากความสวยงามแล้ว มันต้องขายของได้จริง แต่ประเด็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ คนจะขาย กับ คนจะสร้าง มันคนละคนกัน และมีจุดประสงค์คนละด้านกัน  ด้านหนึ่งต้องการความสวยงาม โด่ดเด่นมีสไตล์ แต่อีกด้านต้องการสะดวกรวดเร็ว ชัดเจน เพื่อที่จะขายสินค้า แล้วอะไรละจึงจะทำให้สมดุลที่สุด  นั่นคือการร่วมมือประสานงานโดยทีมการตลาดที่มีประสิทธิภาพและเข้าใจสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถศึกษาได้จาก อิเกีย (IKEA) ก็คือการควบคุมต้นทุนราคา ถึงแม้ในไทยจะยังไม่แพร่หลายในเรื่องของการให้บริการตนเอง เพราะค่าจ้างบ้านเราถูกกว่าเมืองนอกเขาหลายเท่านัก แต่ก็ยังสามารถเห็นว่า อิเกีย (IKEA) ที่เมืองไทยนั้นยังนำหลักการแบบอย่างเมืองนอกมาใช้ในไทยอยู่บ้าง ด้วยการให้บริการตัวเองเพื่อลดค้าใช้จ่ายบุคลากรในการดูแล ใครอยากรู้ความแตกต่างก็ลองไปเดินแบรนด์อื่นๆดู  พนักงานแทบจะเกาะติดเราก้าวต่อก้าวเลยทีเดียว ถามว่าดีไหม ก็ดีนะแต่บางทีก็อยากดูคนเดียวบ้างอะไรบ้าง… 

การบริการตนเองนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ อิเกีย (IKEA) หรอกนะ พวกราคาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆในต่างประเทศก็นิยมใช้รูปแบบบริการตนเองกันเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั้งร้านอาหารฟาสฟู๊ดก็ต้องเก็บจานกันเองด้วยนะเออ ซึ่งนั่นหมายความว่า เมื่อยุคสมัย และสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ค่าจ้างแพงขึ้น การบริการตนเองก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อที่จะลดค้าใช้จ่ายต่างๆ นั่นเอง ซึ่ง IKEA นำจุดเด่นการบริการตนเองมาเป็นจุดสำคัญในการลดต้นทุนให้มากที่สุด แม้กระทั่งการที่ผู้ซื้อสินค้าต้องขนสินค้ากลับเอง ซึ่งจะยังเป็นเรื่องแปลกอยู่บ้างสำหรับเรา แต่ในต่างประเทศนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว

อิเกีย (IKEA) ยังไม่หยุดเพียงแค่ การวางแผนผังที่ดี และการใช้ราคาที่ถูก แต่อิเกียยังวางกลยุทธ์มากมายอยู่ในตัวสินค้าเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่เน้นใช้งานได้จริงแต่ยังคงความเรียบง่ายสวยหรู บวกกับการทำแพ็คเกจที่ต้องประหยัดพื้นที่การขนส่งมากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการขนส่งด้วย 

IKEA Brand Values
IKEA Brand Values 2016-2020

ปัจจุบัน อิเกีย (IKEA) ขยายแล้วมากกว่า 300 สาขาทั่วโลกใน 35 ประเทศ โดยปัจจุบันปีผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2019 มีรายได้สูงถึง 23,986 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 8แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 1,485 ล้านยูโร หรือราวๆ 5หมื่นกว่าล้านบาทเลยทีเดียว และประเทศที่สร้างยอดขาดได้ดีที่สุดคือประเทศเยอรมนีคิดเป็น 15% ของรายได้ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 14% ของรายได้ ทั้งนี้อิเกียมีการใช้การขนส่งทางรถถึง 60% และทางระบบรางเพียง 20%  และทิศทางในอนาคตบริษัทก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มการขนส่งระบบรางมากขึ้น โดยเฉพาะในโซนยุโรป เพื่อที่จะลดต้นทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก 

ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้จึงนำพา อิเกีย (IKEA) ให้ประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้อย่างดี เราจึงเห็น อิเกีย (IKEA) มีความสามารถในการแข่งที่สูงและสามารถเจาะตลาดไปได้หลายประเทศทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์ ราคาต่ำเพื่อเจาะตลาด (Penetration Pricing Strategy) ไปจนถึงการออกแบบสินค้าที่เรียบง่าย การวางแสดงสินค้าที่ถูกใจผู้ซื้อเป็นอย่างดีจึงสะท้อนปัจจัยเบื้องต้นความสำเร็จของ อิเกีย (IKEA) ในทุกวันนี้

 

อ้างอิง:

REF: https://www.ukessays.com/essays/marketing/what-made-ikea-such-a-success-marketing-essay.php

REF: https://www.statista.com/statistics/980112/brand-value-of-ikea-worldwide/

REF: https://www.forbes.com/companies/ikea/#700becc82ad0

Entrepreneurship, Credit Analyst, Marketing Executive, Strategic Planning Director and Investor - และทุกวันนี้ ผมยังเป็นนักเรียน ทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงการตลาดนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ฉะนั้นแล้วเราจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้

Related Posts