Opinion: วาทกรรม ”สังคมก้มหน้า” ตกลงมันดี ไม่ดี หรือยังไงกันแน่?

0

ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของทุกสิ่งบนโลกใบนี้ การใช้ชีวิตของผู้คน การดำเนินชีวิต และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็คงไม่แตกต่างกัน การปรับตัวคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งธุรกิจ

จากผลสำรวจการเข้าใช้งาน Social media ต่าง ๆ ของบุคคลทั่วไปพบว่า มีการเข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพามากกว่าการใช้งานผ่านจอคอมพิวเตอร์อย่างเห็นได้ชัด โดยอันดับสูงสุดคือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้ใช้งาน Social media ผ่านอุปกรณ์พกพามากกว่า 76% และประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่ 9 โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 50% ซึ่งในอนาคตทางผู้เขียนมีความเชื่อว่าตัวเลขคงพัฒนาขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงวันที่เราแยกประเภทการใช้งานระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจน อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นอีกแล้วในช่วงเวลานั้น ๆ คงต้องโบกมืออำลากันไป แล้วหวังว่าเราจะได้พบเจอกันอีกครา(ในพิพิธภัณฑ์)

 

“จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่สะดวกสบายมากกว่าเดิม”

เช่น เทคโนโลยีด้านจอภาพที่จะเปลี่ยนแปลงหน้าตาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปจากปัจจุบัน หรืออาจเกิดการสร้างนวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่จะปฏิวัติรูปแบบการบริโภคข้อมูลครั้งใหม่ จนถึงเวลานั้นเราอาจมีคำเรียกใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาใหม่ก็เป็นได้ เช่น “สังคมเสมือน (Virtual Society)” ไว้เรียกเหล่าผู้คนที่ไม่ยอมออกจากบ้าน เพราะทุกอย่างสามารถทำได้ทุกอย่างเสมือนคุณอยู่ในสังคมตามปกติ โดยคุณไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย(ลองนึกภาพ The Matrix) 

หรือจะเป็น “มนุษย์ตาลอย” ไว้เรียกคนที่เสพติดการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีด้านจอภาพพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถสร้างจอภาพแบบคอนแท็คเลนส์พร้อมสวมใส่ เมื่อคุณใช้งาน คุณจะเข้าสู่โลกส่วนตัวซึ่งไม่อาจละสายตาจากมันได้อีกต่อไป

 

โลกส่วนตัวอันสวยงาม จนไม่อาจละสายตาจากมันได้อีกต่อไป

 

ถ้ามองกลับมาที่เรื่องการออกแบบ  UI และ UX ให้แก่อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้เขียนคิดว่ามันคงจะน่าสนุกไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ลองคิดดูว่าถ้าอุปกรณ์ต่างๆ สามารถหลอมรวมไปกับตัวผู้ใช้งาน จนตัวเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Hardware ไปแล้ว การพัฒนา Native application ขึ้นมาคงต้องรวมไปถึง การรับส่งข้อมูลการเคลื่อนไหวของร่างกาย พฤติกรรมต่าง ๆ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราในขณะนั้นเข้าไปด้วย

 

“นวัตกรรมชี้นำสังคม หรือพื้นฐานความต้องการของมนุษย์กำหนดทิศทางการสร้างสรรค์นวัตกรรม”

วิวัฒนาการของสังคมที่ค่อย ๆ สร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ต่างก็มีปัจจัยสำคัญพื้นฐานอยู่ที่ความต้องการของมนุษย์ เราต่างออกแบบ คล้อยตาม และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในทิศทางที่ดูเหมือนจะไร้การควบคุมในเส้นทางย่อย แต่เมื่อมองสูงขึ้นจากภาพรวมในเส้นทางหลัก ผู้เขียนมีความเชื่อว่า เราต่างก็จูงมือกันเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่จะเติมเต็มความว่างเปล่า และความต้องการที่ไม่มีสิ้นสุดในใจของพวกเราเอง

Refs: http://wearesocial.com/uk/special-reports/digital-in-2016

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม

Related Posts