บทเรียนความเป็นผู้นำ ผ่านมุมมองของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด3

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาก่อนปี 2013 ในยุคของยอดกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปยุโรป ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือเกิดจากความเก่งกาจของเซอร์ อเล็กซ์ เพียงคนเดียว เเต่เกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเป็นมืออาชีพของทั้งนักเตะ สต๊าฟโค้ช เเละทีมผู้บริหาร

แต่เมื่อวันที่กุนซือรายนี้อำลาวงการไป ทีมที่เคยแข็งแกร่งไร้เทียมทาน กลับกลายเป็นทีมที่หาจุดยืนของตัวเองไม่เจอภายในระยะเวลาเพียงเเค่ไม่กี่เดือน ทั้ง ๆ ที่ ทีมก็ใช้ผู้เล่นชุดเดิม ผู้บริหารก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราไปหาคำตอบกัน

File:1999 UEFA Champions League celebration (edited).jpg

หนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยให้ธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างประสบความสำเร็จคือ “Strong Leadership” หรือ ภาวะผู้นำที่ดี โดยเฉพาะหัวเรือของบริษัทอย่าง Managing Director (MD) หรือ Chief Executives Officer (CEO) หากผู้บริหารสูงสุดของบริษัทมีทักษะและมีภาวะผู้นำ (Leadership) ที่เข้มแข็ง โอกาสที่บริษัทจะเติบโตอย่างมั่นคงก็จะมีสูงกว่า

เเล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างไร? สิ่งสำคัญที่ทำให้แมนยูไนเต็ดถูกโค่นลงจากบัลลังก์เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจ (Transition) จากผู้จัดการทีมและผู้บริหารระดับสูงคนเก่า สู่ ผู้จัดการทีมและผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ ที่มีแนวคิด วิธีการทำงานแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Alex_Ferguson

ยุครุ่งเรือง 1986 – 2013 (26 ปี)

ผู้จัดการทีม: เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ผู้บริหารสูงสุด: มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ (1982 – 2002) ปีเตอร์ เคนยอน (2002-2003) เดวิด กิลล์ (2003 – 2013)

แม้ช่วงต้นในการเข้ามาทำทีมของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะมีผลงานที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เสี่ยงจะถูกไล่ออกอยู่หลายครั้ง เเต่เมื่อสามารถคว้าแชมป์แรกได้อย่าง F.A. Cup ในปี 1990 เส้นทางการทำทีมของเซอร์ อเล็กซ์ ก็มีเเต่จะพุ่งขึ้น ทั้งการคว้า 3 แชมป์ประวัติศาสตร์ในปี 1998-1999 การไล่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดจนทำสถิติที่ 20 สมัย รวมถึงการคว้าเเชมป์ Uefa Champions League ได้เป็นครั้งที่ 2 ของตัวเอง พร้อมกับเเชมป์ลีกสูงสุดในปี 2008

แม้เซอร์ อเล็กซ์ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของความสำเร็จในยุคนี้ เเต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเตะที่อยู่ในวินัย ทีมผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ก้าวก่ายการทำงานของผู้จัดการทีม ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

ผมขอแยกย่อยประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำหรือ Leadership ของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ

ผู้จัดการทีมเป็นใหญ่

นักเตะทุกคนต้องฟังผู้จัดการทีมเท่านั้น ห้ามเถียงหรือทำตัวใหญ่กว่าสโมสร เราจะเห็นหลายเหตุการณ์ที่โด่งดังซึ่งเกิดจากความเฮี๊ยบของบรมกุนซือท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งให้นักเตะเยาวชนทุกคนใส่รองเท้าฟุตบอลสีดำเพื่อสร้างวินัย การขายเดวิด เบคแฮ็ม รวมถึง รุด ฟาน นิสเตลรอย 2 นักเตะระดับโลกที่แฟนบอลรัก เเต่ด้วยความไร้วินัยและไม่เชื่อฟังผู้จัดการทีม ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการเก็บข้าวของออกจากสโมสรไปอย่างไม่มีข้อแม้

ผู้จัดการทีมมีอำนาจสูงสุดในการซื้อ-ขายนักเตะ

ตามหลักการบริหารสโมสรฟุตบอลทั่วไป ผู้จัดการทีม (Manager) และผู้อำนวยการด้านฟุตบอล (Director of Football) จะทำงานร่วมกันในการซื้อ-ขายนักเตะ โดยรูปแบบจะเป็นดังนี้

  1. ผู้จัดการทีมแจ้งความจำนงค์ขอซื้อนักเตะใหม่ในตำแหน่งที่ต้องการ
  2. ผู้อำนวยการด้านฟุตบอลรับเรื่องและหาตัวเลือกที่เหมาะสม
  3. นำตัวเลือกมาปรึกษากับผู้จัดการทีม
  4. นำข้อสรูปไปนำเสนอบอร์ดบริหารเพื่อขออนุมัติงบประมาณ
  5. ติดต่อ เจรจาซื้อนักเตะที่ต้องการ

แต่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เลือกวิธีที่แตกต่างจากสโมสรอื่น นั่นคือตัวเขาเป็นคนจัดการทุกอย่างเองหมดโดยไม่มีผู้อำนวยการด้านฟุตบอลมาเกี่ยวข้องเลย นั่นจึงทำให้ตัวผู้จัดการทีมจะได้นักเตะที่ตัวเองต้องการจริง ๆ (ในยุคปัจจุบัน เเทบทุกสโมสรจะเเต่งตั้งผู้อำนวยการด้านฟุตบอลเพื่อมาเเบ่งเบาภาระและช่วยเหลือผู้จัดการทีม)

ผู้จัดการทีมมีอำนาจสูงสุดในการเลือกนักเตะลงสนาม

เรื่องนี้อาจจะดูปรกติในหลาย ๆ ทีม เเต่เราก็เห็นกันมามากที่เจ้าของสโมสรเลือกซื้อนักเตะตามใจชอบและกดดันผู้จัดการทีมให้ส่งผู้เล่นเหล่านั้นลงสนาม เเต่เรื่องนี้ไม่เคยเเละไม่มีทางเกิดขึ้นในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แม้ในปี 2005 ตระกูลเกลเซอร์จะกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโสมร เเต่เจ้าของใหม่ไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายการทำทีมของเซอร์ อเล็กซ์ แม้เเต่ครั้งเดียว

สรุป

ในยุครุ่งเรื่องของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาจากมันสมองและความเป็นผู้นำของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แม้จะไม่ใช่ปัจจัยเดียวแต่เป็นปัจจัยหลักที่เมื่อขาดไป ความมั่นคงที่สร้างไว้ ถึงคราวต้องสั่นคลอน

https://strettynews.com/2020/04/22/the-moyesy-debate-did-david-moyes-deserve-more-time-at-manchester-united-trafford-hot-seat/

ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2013 – 2014 (1 ปี)

ผู้จัดการทีม: เดวิด มอยส์ / ไรอัน กิ๊กซ์

ผู้บริหารสูงสุด: เอ็ด วูดเวิร์ด (2013 – ปัจจุบัน)

หลังจากการทำทีมมาอย่างยาวนานถึง 26 ปี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็ตัดสินใจวางมือ และเป็นคนแนะนำบอร์ดบริหารว่าให้เเต่งตั้ง เดวิด มอยส์ กุนซือฝีมือดีจากเอฟเวอร์ตันมาทำหน้าที่แทน

เดวิด มอยส์ คุมทีมระดับกลางตารางอย่างเอฟเวอร์ตันมายาวนานตั้งเเต่ปี 2002 จนถึง 2013 มอยส์ได้เข้ามาพัฒนาเอฟเวอร์ตันที่ไม่เคยมีลุ้นอะไร มาเป็นทีมที่มีลุ้นพื้นที่ยุโรปในช่วงหลัง เเต่ด้วยประสบการณ์ที่ไม่เคยคุมทีมระดับโลกมาก่อน ทำให้มอยส์ไม่มีแนวคิด (Mindset) ของการเป็นผู้นำ (Leader)

ในยุคเปลี่ยนผ่าน การจัดการในเรื่องต่าง ๆ ควรจะทำให้ราบลื่นมากที่สุด เเต่มอยส์กลับไม่คิดเช่นนั้น ในวันเเรกที่เข้ามาเป็นผู้จัดการทีม มอยส์ตัดสินใจโละสต๊าฟโค้ชทั้งหมดที่ส่งต่อมาจากยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และนำทีมงานของตัวเองมาเเทนที่ทั้งหมด นอกจากการปรับเปลี่ยนทีมงานที่ไม่คาดฝันเเล้ว มอยส์ยังไร้ความสามารถในการจัดการทีม รวมถึงไม่สามารถโน้มน้าวให้นักเตะในทีมเชื่อใจอีกด้วย ก่อนสุดท้ายจะโดนไล่ออกไปตั้งเเต่ยังไม่จบฤดูกาล

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคนี้คือการเกษียณของ CEO คู่บุญเซอร์ อเล็กซ์ อย่าง เดวิด กิลล์ โดยเอ็ด วูดเวิร์ด ผู้อำนวยการสายการเงินของสโมสรถูกผลักดันขึ้นมารับตำเเหน่งนี้ต่อ วูดเวิร์ดทำงานด้านการเงินมาตลอดตั้งเเต่เรียนจบ ไม่เคยมีประสบการณ์หรือทักษะในการบริหารทีมฟุตบอลรวมถึงการซื้อ-ขายนักเตะเลย นั่นทำให้ในฤดูกาล 2013 – 2014 มอยส์ได้นักเตะใหม่เพียงเเค่สองคนคือ มารูยาน เฟลไลนี ซึ่งไม่ใช่นักเตะระดับโลกแต่อย่างใด แต่เป็นนักเตะคู่บุญจากทีมเก่าของมอยส์อย่างเอฟเวอตัน และ ฆวน มาต้า จากสโมสรเชลซีในช่วงตลาดนักเตะเดือนมกราคม

สรุป

มอยส์ไม่มีลักษณะนิสัยของความเป็นผู้นำ ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของสโมสรเเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่มี “Winning Mentality” หรือเเนวคิดของความเป็นผู้ชนะมากพอ รวมถึงการเข้ามาเปลี่ยนแปลงทีมในยุคเปลี่ยนผ่านมากเกินไป นอกจากนี้ผู้นำองค์กรคนใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ด้านฟุตบอลอย่าง เอ็ด วูดเวิร์ด ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เเมนยูไนเต็ดเริ่มต้นเข้าสู่ยุคตกต่ำ ฤดูกาลนี้เเมนยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยอันดับ 7 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดนับตั้งเเต่ปี 1990

https://www.premierleague.com/managers/10478/Louis-van%20Gaal/overview

ยุคแห่งความหวังลม ๆ แล้ง ๆ 2014 – 2016 (2 ปี)

ผู้จัดการทีม: หลุยส์ ฟาน กัล

ผู้บริหารสูงสุด: เอ็ด วูดเวิร์ด (2013 – ปัจจุบัน)

หลังจากจบฤดูกาล 2013-2014 เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้เเต่งตั้งกุนซือระดับโลกมากประสบการณ์อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล เข้ามาทำหน้าที่ ในช่วง 2 ปีของฟาน กัล เเมนยูไนเต็ดซื้อนักเตะเข้าทีมมาอย่างมากมาย แทบเรียกได้ว่ามีงบเท่าไหร่ใส่ไม่อั้น อยากได้ใครจัดให้หมด เเต่กลายเป็นว่าผลงานในสนามกลับตรงกันข้ามกับความหวังของแฟนบอล นักเตะในทีมจูนกันไม่ติด เเทคติคและรูปแบบการเล่นสไตล์ฟาน กัลไม่เข้ากับความเป็นเเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนนักเตะในทีมเริ่มไม่เชื่อใจ และเเสดงความขัดเเย้งกับผู้จัดการทีมอยู่บ่อยครั้ง ในยุคนี้เป็นยุคที่แฟนบอลแมนยูไนเต็ดปิดทีวีไม่ติดตามผลงานของทีมมากที่สุดด้วยเหตุผลที่รูปแบบการทำทีมของฟาน กัลดูน่าเบื่อ ส่งบอลไป ๆ มา ๆ ไม่ทำอะไรสักอย่างสักที (ไม่ชนะไม่เป็นไร ขออย่าเเพ้เป็นพอ)

ผลงานสูงสุดของฟาน กัลคือการคว้าเเชมป์ F.A. Cup ได้ในปี 2016 เเต่ก็ไม่เพียงพอต่อความคาดหวังของบอร์ดบริหาร

เอ็ด วูดเวิร์ด เริ่มมีประสบการณ์บริหารมากขึ้นในช่วงนี้ จากผลงานซื้อนักเตะตามใจผู้จัดการทีมที่เเทบไม่พลาด รวมถึงการดึงสปอนเซอร์ต่าง ๆ มากมายเข้าสโมสรเช่นการเซ็นสัญญาเสื้อแข่งกับ Adidas ในปี 2014 เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งดีลนี้มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นของโลก

สรุป

ภาวะผู้นำในรูปแบบของหลุยส์ ฟาน กัล ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของสโมสรเเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเป็นทั้งนักเตะ เเฟนบอล รวมถึงบอร์ดบริหาร ต่างไม่เชื่อใจ จนในที่สุดก็ต้องแยกทางกันไป

File:José Mourinho.jpg
https://en.wikipedia.org/wiki/Jos%C3%A9_Mourinho

ยุคแห่งความดราม่า 2016 – 2018 (2 ปี)

ผู้จัดการทีม: โชเซ่ มูรินโญ

ผู้บริหารสูงสุด: เอ็ด วูดเวิร์ด (2013 – ปัจจุบัน)

ฤดูกาลใหม่ มาพร้อมกับความตื่นเต้นใหม่ เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประกาศเเต่งตั้งผู้จัดการทีมระดับ Top 5 ของโลกฟุตบอลอย่างโชเซ่ มูรินโญ เจ้าของฉายา “The Special One” เข้ามารับหน้าที่พร้อมแบกรับความหวังจากเเฟนบอลปีศาจแดงทั่วโลก มูรินโญคือผู้จัดการทีมสายแท็คติกที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของทีม พร้อมได้ผู้เล่นใหม่เข้ามามากมาย จนทำให้ฤดูกาลแรก 2016-17 มูรินโญสามารถนำทีมคว้า 2 แชมป์ ทั้ง EFL Cup และ Europa League

ฤดูกาลที่สอง 2017-18 มูรินโยยังคงพาเเมนยูไนเต็ดอยู่ในระดับท็อปต่อไปด้วยการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร ถึงเเม้จะไม่ได้เเชมป์อะไรเลย เเต่ก็พาทีมจบฤดูกาลเป็นอันดับที่ 2 รองจากเเมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ปีนั้นดุดันจนยากที่จะต้านทานไหว

ฤดูกาลที่สาม 2018-19 ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายของมูรินโญ หลังจากที่พาทีมจบสองฤดูกาลโดยยังไม่เข้าเป้าที่ตั้งไว้จากบอร์ดบริหาร ทำให้ฤดูกาลนี้ มูรินโยจึงไม่ได้งบการทำทีมมากนัก เเละไม่ได้นักเตะที่ตัวเองต้องการ ทำให้เกิดความขัดเเย้งระหว่างตัวผู้จัดการทีมเองกับผู้บริหารสโมสรอย่างเอ็ด วูดเวิร์ด จนสื่อหลายสำนักเอาไปเขียนข่าวกันสนุกมือ นอกจากนี้ความเชื่อใจของลูกทีมต่อตัวผู้จัดการก็เริ่มหมดลง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเเท็กติครวมถึงเหตุการณ์ที่มูรินโญมักเอานักเตะไปด่าผ่านสื่อบ่อย ๆ เเละที่หนักที่สุดคือการด่านักเตะของทีมตัวเองบางคนว่าเป็น “Virus” จนสุดท้ายมูรินโญก็ถูกปลดออกกลางฤดูกาล โดยคนที่เข้ามาทำหน้าที่เเทนคือตำนานของสโมสรอย่าง โอเล กุนนาร์ โซลชา และพาเเมนยูจบอันดับที่ 6 อย่างชอกช้ำ

สรุป

ความขัดเเย้งระหว่างตัวผู้จัดการทีมและบอร์ดบริหารนำไปสู่ความล้มเหลวในสนาม นอกจากนี้รูปแบบความเป็นผู้นำของมูริณโญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแบบขวานผ่าซากก็ไม่สามารถซื้อใจนักเตะได้ในระยะยาว ทำให้ 3 ปีของเขา เเม้จะสามารถคว้าได้ถึง 2 แชมป์ เเต่ก็ไม่สามารถสร้างความประทับใจในความคิดของเเฟนบอลได้

https://www.manutd.com/en/news/detail/Manchester-United-announces-Ole-Gunnar-Solskjaer-as-full-time-manager

ยุคแห่งการเริ่มต้นใหม่ 2018 – ปัจจุบัน

ผู้จัดการทีม: โอเล กุนนาร์ โซลชา

ผู้บริหารสูงสุด: เอ็ด วูดเวิร์ด (2013 – ปัจจุบัน)

หลังจากลองผิดลองถูกกับผู้จัดการทีมระดับต้นของโลกมาถึงสองคน บอร์ดบริหารตัดสินใจเเต่งตั้งตำนานนักเตะของสโมสรอย่าง โอเล กุนนาร์ โซลชา เข้ามารับเผือกร้อนในช่วงกลางฤดูกาล 2018-19 ด้วยผู้เล่นที่มีอยู่ โซลชา ไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนเเปลงอะไรได้มากนัก เเม้จะมีผลงานที่ดีในช่วงเเรก เเต่ก็ไม่สามารถประคองตัวได้ในระยะยาว เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จบฤดูกาลอย่างน่าผิดหวังที่อันดับ 6

สิ่งที่โซลชาเข้ามาเปลี่ยนแปลงที่ชัดที่สุดในฤดูกาลเเรกคือ ให้อิสระกับนักเตะ พูดคุยเเละสร้างความเข้าใจกับนักเตะมากขึ้น จนเกิดบรรยากาศผ่อนคลายขึ้นในทีมหลังจากตึงเครียดกันมาอย่างยาวนานหลายเดือน

ในฤดูกาลล่าสุด ด้วยการสนับสนุนเต็มที่จากบอร์ดบริหาร โซลชาได้งบทำทีมมากพอสมควร ทำให้ได้นักเตะในตำเเหน่งที่ต้องการทั้งหมด รวมถึงมีนโยบายปั้นดาวรุ่งขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ จุดประกายความหวังของแฟนบอลและผู้เล่นในทีมได้อีกครั้ง ฤดูกาลที่ 2 ของโซลชา ที่นับว่าเป็นฤดูกาลเต็ม ๆ ฤดูกาลเเรกของเขา ทำทีมจบอันดับที่ 3 คว้าโควตา Uefa Champions League ไปอย่างสวยงามเเม้ผลงานช่วงครึ่งฤดูกาลแรกจะกระท่อนกระแท่นพอสมควร

ความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในปีนี้คือโซลชาปรับทัศนคติของนักเตะให้เป็นในแบบที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดควรจะเป็น นั่นคือ “Winning Mentality” จะเห็นได้ว่า ไม่เคยมีข่าวความขัดเเย้งของนักเตะ ทีมงาน หรือบอร์ดบริหารเลยในปีนี้ เพราะโซลชาเข้ามาปรับสมดุลให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น โซลชานับว่าเป็น “Leader” ที่ดูอ่อนโยนกว่าคนก่อน ๆ เเต่ยังสามารถทำให้นักเตะเชื่อฟังและเคารพได้

สรุป

ในยุคเเห่งการเริ่มต้นใหม่หลังจากผ่านยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถึง 6 ปี เเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ดูเหมือนจะได้พบกับผู้จัดการทีมที่เเฟนบอลและบอร์ดบริหารต้องการเสียที โดย โซลชา เอง เป็นนักเตะในยุคเซอร์ อเล็กซ์ ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของสโมสรอย่างแท้จริง เเละนำรูปแบบการทำทีมของเซอร์ อเล็กซ์ มาปรับใช้ค่อนข้างมาก โซลชาถึงดูภายนอกจะดูเป็นคนเรียบง่ายสไตล์คนสแกนดิเนเวียน เเต่พอถึงเวลาจริง ก็มีความดุดันจนนักเตะให้การเคารพยำเกรง

ถึงเเม้สถานการณ์จะดูสดใส เเต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นเพียงฤดูกาลที่ 2 ของโซลชาเท่านั้น การจะทำทีมกลับมาสู่ยุครุ่งเรื่องได้อีกครั้งก็เปรียบเหมือนกับการวิ่งมาราธอน เหล่าเเฟนบอลทุกคนคงต้องติดตามโซลชาในระยะยาวกันต่อไป

 

การเปลี่ยนแปลงในองค์กรคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าการมีผู้นำ (Leader) ที่มีภาวะผู้นำ (Leadership) จะช่วยนำพาองค์กรในยุคใหม่ไปสู่ทางที่ถูกต้อง และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า โดยผู้นำที่ว่านี้จำเป็นต้องได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน มีทักษะความสามารถในด้านที่จำเป็น และมีทัศนคติที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร

 

ขอบคุณ

https://en.wikipedia.org

www.premierleague.com

www.manutd.com

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม