Elon Musk ต้นแบบของนักธุรกิจ ที่โบยบินไปจากวังวนของการจับปลา

0

 

“Use the wings of the flying universe, Dream with open eyes; See in darkness.”

– Dejan Stojanovic

 

คงต้องยอมรับกันว่าการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่มุ่งเน้นเป็นสิ่งแรกและยึดเป็นเป้าหมายในชีวิตก็คือ “อิสรภาพทางการเงิน” เราทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีชีวิตที่อยู่รอดปลอดภัย มีเงินเพียงพอไว้ใช้เพื่อมีชีวิตที่ดีต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางหมู่คนจำนวนมาก ยังคงมีคนจำนวนนึงที่ใช้ชีวิตโดยตระหนักถึง “อิสรภาพทางความคิด” เป็นหมุดหมายสำคัญ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นไปตามครรลองต่างๆ ที่เกิดขึ้นและพัดพาความคิดของคนในสังคมให้ไปในทิศทางที่คล้ายกัน แต่กลับเลือกที่จะเดินก้าวออกมาให้หลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ และบุคคลหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ Elon Musk

ในบรรดานักธุรกิจหลายๆ ท่านที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามแล้วนั้น ส่วนใหญ่เลือกที่จะก้าวเดินไปต่อในเส้นทางเดิมบนเป้าหมายที่สูงขึ้น และพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของรายได้ที่ดีมากยิ่งขึ้น เราอาจนึกจำลองถึงภาพพีระมิด เมื่อเราไต่ระดับจากฐานขึ้นไปถึงยอดสูงสุดของพีระมิดแล้ว เราจึงขยับขยายไปยังพีระมิดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สูงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และอาจใช้เวลาไปจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตที่จะรับรู้ได้ว่า เราคงต้องอำลาจากทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาไปทั้งหมด ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อวันนั้นมาถึง คนส่วนใหญ่ในสังคมได้ตระหนักถึงจุดไคลแม็กซ์สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ในข้อนี้ไว้แล้วมากน้อยเพียงใด

เจ้านกนางนวลโจนาธาน (Jonathan Livingston Seagull โดย Richard Bach) ได้ตระหนักถึงคำถามข้อสำคัญข้อนี้ในวันที่ยังไม่ใช่วาระสุดท้ายของชีวิต และมีความคิดที่หลุดกรอบจากการขับเคลื่อนชีวิตอยู่ในโครงสร้างทางสังคมเดิมๆ ที่ต้องนำพาตนเองไปอยู่จุดสูงสุดของการหาปลา แต่กลับมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฝึกฝนตนเองให้บินได้สูงขึ้น เร็วขึ้น ไกลยิ่งขึ้น ไกลไปจนเกินกว่าจินตนาการของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในโลกอันกว้างใหญ่และจักรวาลอันเวิ้งว้างที่ไร้คำตอบในการอุบัติขึ้นมาของทุกสรรพสิ่งนี้จะเข้าใจได้

เช่นเดียวกันกับการหาปลาได้อย่างเก่งกาจของเหล่านกนางนวลบนชายหาดที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์อย่างเราๆ นั้นตระหนักได้ว่าเราได้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ มีอิสรภาพทางการเงินที่ดีแล้ว แล้วชีวิตในย่างก้าวต่อไปนั้น…

 

“เราจะทำอะไรต่อไป”

 

นั่นคงเป็นคำถามที่ Elon Musk อาจจะเคยตั้งคำถามกับตัวเอง และคำตอบของเค้าในวันนี้หลายๆ ท่านคงทราบดีผ่านโปรเจคทั้งหลายเหล่านี้

 

Tesla

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะเขย่าโลกของการใช้พลังงานไปทั้งใบ และเมื่อพัฒนาได้สำเร็จตามแผนในปี 2020 จะสามารถเพิ่มระยะการเดินทางของรถยนต์ได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร จากการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันคือ Auto Pilot ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานแทนมนุษย์ได้ถึง 100%

 

Hyperloop

ในปี 2013 เขาได้นำเสนอแนวคิดการปฏิวัติระบบขนส่งมวลชนด้วยระบบท่อสุญญากาศ ที่สามารถทำความเร็วสูงในระดับความเร็วเสียงได้ถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

SpaceX: Mission to Mars

ด้วยแนวความคิดที่ว่า “Making Life Multiplanetary” มนุษย์นั้นจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ในหลากหลายดวงดาว ในปี 2024 ที่จะมาถึงนี้คงเป็นปีที่น่าทึ่งที่สุดของ Elon Musk ด้วยภารกิจการนำพามนุษย์จำนวนหนึ่งออกเดินทางไปสู่ดาวอังคารด้วยยานอวกาศแห่งความฝันอันยิ่งใหญ่ BFR โดยก่อนหน้านั้นในปี 2022 จะเริ่มทำการขนส่งสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นล่วงหน้าไปก่อนเพื่อทำภารกิจต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การยืนยันแหล่งน้ำ การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการใช้พลังงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ภารกิจทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ทำให้สามารถพัฒนาเมืองสำหรับการอยู่อาศัยขึ้นมาได้ และท้ายที่สุดนั่นก็คือการสร้างอารยธรรมที่ยั่งยืนต่อไปของมนุษย์บนดาวอังคาร

 

Neuralink

ด้วยความตระหนักถึงการพัฒนาความสามารถอย่างก้าวกระโดดของ AI ทำให้เขาเกรงว่าความเป็นไปได้ที่ AI จะก่อปัญหาต่างๆ และสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์ได้ในอนาคตอย่างในหนัง Sci-Fi นั้นจะกลายเป็นความจริง จึงเกิดไอเดียการควบรวมการทำงานร่วมกันระหว่างสมองของคนและคอมพิวเตอร์ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ความสามารถของมนุษย์นั้นมีความทัดเทียมหรือเหนือชั้นไปกว่าความเก่งกาจของ AI ที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาเองกับมือและยังคงสามารถเป็นเผ่าพันธุ์ที่เป็นฝ่ายควบคุม AI ได้ต่อไปโดยไม่ตกเป็นทาสหรือพลเมืองชั้นสองไปเสียเอง

 

“และเมื่อตัวตนและความทรงจำของมนุษย์ผู้หนึ่งที่อุบัติขึ้นมาแล้วนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไปในรูปแบบของหน่วยความจำที่ถูกถ่ายโอนได้ นั่นก็แปลว่ามนุษย์นั้นจะสามารถมีชีวิตเป็นอมตะไม่มีวันตายอีกต่อไป”

 

Ex Machina หนังที่ถ่ายทอดความความรู้สึกนึกคิดของ AI ที่มีจิตสำนึกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ได้อย่างมีความเสมือนจริง

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าแต่ละโปรเจคล้วนมีความมหัศจรรย์ที่หลุดกรอบจากแนวคิดและวิถีปฏิบัติเดิมๆ ที่สามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นไอดอลในวัยเด็กของเขาเองบางท่าน ยังได้ต่อต้านและแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนในแนวคิดบางเรื่องของ SpaceX ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่เขาไม่น้อยจนทำให้เขาถึงกับต้องหลั่งน้ำตา (อ่านต่อได้ใน: ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง The Great Gatsby กับ Elon Musk ในบทต่อไป)

ท่ามกลางเสียงก่นด่าของเหล่านกนางนวลริมชายหาด เจ้านกนางนวลโจนาธานบินต่อไปอย่างโดดเดี่ยว ด้วยความพยายามและจิตใจอันแน่วแน่ และด้วยความขบถกล้าที่จะฉีกกฏเกณฑ์ให้หลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ ส่งผลให้มันได้ผลลัพธ์กลับคืนมาอย่างยิ่งใหญ่นั่นก็คือการได้รับ “อิสรภาพ” จากสิ่งที่จองจำเราไว้ในคุกของความคิดที่ต้องโทษยาวนานไปตลอดทั้งชีวิต

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นดำรงอยู่และใช้ชีวิตขับเคลื่อนไปโดยสัญชาติญาณที่ควบคุมความต้องการในด้านต่างๆ ตามช่วงอายุ ตามวัย เช่นเดียวกันกับมนุษย์ ถ้ามองกันไปที่แก่นกลางของมันแล้วเราอาจพบว่า ตั้งแต่ยุคสมัยในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในด้านใจความหลักของเนื้อหา จะแตกต่างจากเดิมไปก็เพียงแค่หน้าปกหรือเพียงเปลือกนอกของมันเท่านั้น แต่เมื่อไรที่มนุษย์อย่างเราตระหนักได้ถึงกำแพงที่ครอบงำความคิดของเราอยู่ได้แล้วนั้น ปัญหามากมายในสังคมนี้คงลดทอนลงไปได้บ้าง การแก่งแย่งชิงดี กลั่นแกล้ง เอาเปรียบกัน การทุจริตคอร์รัปชันคดโกง คงไม่มีความจำเป็นหรือเป็นหมุดหมายหลักในการกระทำของคนบางคนอีกต่อไป

 

“และเมื่อถึงวันนั้นมาถึง เราทุกคนคงได้รับอิสรภาพและเริ่มออกโบยบินไปพร้อมๆ กันกับเจ้านกนางนวลโจนาธาน”

 

References:

https://futurism.com/heres-list-everything-elon-musk-2030/

http://readery.co/9786169160120

http://www.spacex.com/mars

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม