แปลกใจกันไหม? ทำไมเราถึงซื้อหนังสือมาเก็บไว้เยอะๆ โดยไม่ได้อ่านจนจบเล่ม

0

คุณเคยแปลกใจไหม ทำไมเราถึงซื้อหนังสือมาเก็บไว้เยอะ ๆ โดยไม่ได้อ่านจนจบ ? เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้เขียนเป็นช่วง ๆ ยามเดินผ่าน Kinokuniya, Asia Books หรือยามอ่านเฟสบุ๊คผ่านเพจ Readery โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในตอนแรกผู้เขียนคิดว่าอาการเช่นนี้คงเป็นแค่เราเพียงคนเดียว แต่พอหันหน้าไปถามใครต่อใคร ก็พบว่ามีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน

 

คงจะเป็นเรื่องจิตวิทยาบางอย่าง

ที่ทำให้เราตัดสินใจทำอะไรลงไป เนื้อหาของหนังสือที่เราเลือกซื้อและให้ความสนใจนั้น ผู้เขียนคิดว่ามันได้สะท้อนถึงอะไรบางอย่าง หรือนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะเป็นเช่นนั้น เป็นอย่างบุคคลคนนั้น อยากเข้าใจในห้วงอารณ์ความรู้สึกแบบนั้น มีจิตวิญญาณ ขนบ การดำเนินชีวิต และอยากมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน พอคิดได้แบบนี้ กลับมาคิดอีกที สิ่งที่เราเป็นเราในวันนี้ ทั้งบุคลิก ตัวตน ความชอบ ความสนใจ เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ? ชักจะไปกันใหญ่…

You are what your read

 

Fear of Missing Out

หลายคนคงเคยได้ผ่านตากันมาบ้างกับคำว่า FOMO (Fear of Missing Out) หรือที่เราซื้อหนังสือหลาย ๆ เล่มมาเก็บ เพราะเรากลัวที่จะพลาดสิ่งดี ๆ ที่กำลังเป็นกระแส เป็นที่พูดถึงในช่วงนั้น … รู้เช่นนี้ นักการตลาดบางท่านจึงเริ่มก่อการอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการจุดชนวนให้เกิดการพูดถึงหนังสือเล่มนั้น จะปังจะแป้กก็มีให้เห็นผ่านตากันอยู่บ่อย ๆ นะครับ

 

นักนิยมนอกกระแสควรจะไปอยู่ฝั่งไหน ?

พูดถึงเรื่องนี้เลยอยากจะนอกเรื่องไปนิดถึงคำว่าเป็นกระแส ผู้เขียนคิดว่า จะในหรือนอกกระแสก็นับเป็นกระแสอยู่ดี แค่ขนาดของสังคมนั้น ๆ เล็กใหญ่ต่างกัน พบเห็นอยู่บ่อย ๆ กับคนที่ชอบบอกว่า “ผมอินดี้นะครับ ไม่ชอบตามกระแส” … อยากบอกว่าคนแบบคุณนี่มีเยอะแยะเลยแทบจะใกล้เคียงกับกระแสหลักเลยล่ะ แล้วทีนี้ถ้าอยากได้ความรู้สึกแตกต่างเป็นอิสระ (Independent) ควรจะไปอยู่ฝั่งไหนดี ?

 

Abibliophobia

กลับมาที่เรื่องหนังสืออีกสักหน่อย ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสผ่านตามากับคำว่า Abibliophobia หรือโรคกลัวไม่มีหนังสือจะอ่าน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเสพติดการอ่านอย่างหนัก สามารถอ่านหนังสือจำนวนมาก ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อันนี้แปลกไปอีก หรือที่ซื้อกันมาเก็บกันเป็นตั้ง ๆ ด้วยเพราะเหตุนี้กันแน่ ถ้าใครที่คิดว่าตัวเองเข้าข่ายอาการแบบนี้ นี่เลยขอแนะนำวรรณกรรมคลาสสิคของชาวรัสเซีย “พี่น้องคารามาซอฟ” โดย ฟีโอโดร์ ดอสโตเยฟสกี กับอีกสักเล่มเอาเป็น “อันนา คาเรนินา” โดย เลโอ ตอลสตอย ซื้อมาอ่านสักวันสองวันคงจะอ่านจบได้ไม่ยากเย็น

เป็น Abibliophobia กันหรือเปล่าครับ ?

 

หน้าปกที่สวยงาม เหมือนได้เสพงานศิลป์

แม้จะมีคำกล่าวที่ว่า “Don’t judge a book by its cover” ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้ตัดสินอะไร แต่ต้องยอมรับว่าหน้าปกที่สวยงามมันก่อให้เกิดแรงดึงดูด เป็นอีกเรื่องที่คงปฏิเสธกันไม่ได้ ความประทับใจในความสวยงามของหน้าปก กอปรกับเนื้อหาของหนังสือที่มีเรื่องราว บุคลิกและอารมณ์ของงานเขียน หรือของผู้ประพันธ์เองก็ตาม การซื้อหนังสือสักเล่ม จึงเหมือนการเก็บสะสมงานศิลปะที่สวยงามน่าหลงใหล โดยมีเรื่องราวและที่มาที่ไปอยู่เบื้องหลังเช่นเดียวกัน

 

หนังสือจะตายจากสังคมไหม ?

ผู้เขียนมีความมั่นใจว่าไม่ตายจากไปจนหมดสิ้นแน่นอน แต่อาจลดขนาด ลดประเภทและจำนวนลง แน่นอนราคาของหนังสือคงสูงขึ้นไม่น้อยตามกลไกของมัน และถ้าถึงเวลานั้นจริง ๆ หนังสือคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจสูงมากเลยทีเดียวล่ะครับ

 

*ล่าสุด ผู้เขียนได้มีโอกาสผ่านตากับคำว่า Tsundoku ซึ่งเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นซึ่งให้นิยามของอาการคล้ายกันนี้ไว้เช่นเดียวกัน นั่นก็คือการเสาะหาหนังสือมาเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก จากนั้นก็ทิ้งไว้โดยไม่ได้ลงมืออ่าน

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม

Related Posts