9 โมเดลธุรกิจ ฉบับเรือ(ดำน้ำ)เล็ก ๆ เตรียมออกจากฝั่ง : Part 2

0

ก่อนจะเตรียมออกจากฝั่ง เพื่อเข้าท้องทะเลสีครามอันกว้างใหญ่ของโลกธุรกิจ เรามาต่อกันที่เรื่องโมเดลธุรกิจ(Business Model) อีก 5 ประเภทที่เหลือกันเลยดีกว่าครับ

คุณสามารถย้อนกลับไปดูข้อมูลของ 4 ประเภทแรกได้ที่ 9 โมเดลธุรกิจ ฉบับเรือ(ดำน้ำ)เล็ก ๆ เตรียมออกจากฝั่ง : Part 1

5. โมเดลใช้ซ้ำ (Reuse Model) – นำสิ่งที่มีอยู่มาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งสินค้าใหม่ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คอลัมน์ที่เขียนลงหนังสือพิมพ์หรือแมกกาซีนอยู่เป็นประจำ สามารถนำมารวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือได้อีก 1 เล่ม สร้างโอกาสในการขายเพิ่มเติมได้จากเนื้อหาเดิมที่มีอยู่ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การประยุกต์จากสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีอยู่ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเพิ่มขึ้นมาใหม่ เช่น ถ้าคุณทำกิจการโรงแรมขนาดเล็กจนประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี คุณอาจนำความรู้ ความสามารถในการบริหารงานจากประสบการณ์การจริง ไปประยุกต์เป็นอีกธุรกิจคือการให้บริการด้านการบริหารการจัดการหรือให้คำปรึกษาแก่โรงแรมอื่น ๆ ได้ทั้งรูปแบบทีมบริหารและการจัดสัมมนา หรือรวบรวมความรู้ที่มีอยู่เขียนออกมาเป็นหนังสือ หรือจะนำบทความที่มีอยู่นั้นนั้นไปเปิดเป็น Webblog หรือ Social media page ให้คนติดตามได้อีกด้วยครับ

งานเขียน บทความ องค์ความรู้ต่าง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นสินค้าหรือบริการในรูปแบบอื่น ๆ ได้

 

6. โมเดลวัสดุสิ้นเปลือง (Supply Model) – เหมาะกับสินค้าที่ใช้แล้วต้องซื้อเพิ่มอีกบ่อยครั้ง เนื่องจากใช้แล้วหมดไปหรือเกิดการสึกหรอตามอายุการใช้งาน จากที่ผ่านมาในอดีต ตัวอย่างคลาสสิคคงหนีไม่พ้น หมึกปรินเตอร์ และใบมีดโกน แต่ในยุคปัจจุบันผู้เขียนนึกไปถึงสินค้าเทคโนโลยีทั้งหลาย Hardware และ Software ต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอายุการใช้งานที่สั้นลงอย่างสังเกตได้ อายุการใช้งานที่สั้นลงอาจไม่ได้เกิดจากการสึกหรอของอุปกรณ์ หากเกิดจากการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ที่เราใช้งานมาแล้วพักนึงนั้นไม่ทันยุค ทันสมัยอีกต่อไป อุปกรณ์เก่า ๆ (2 ปีก็เริ่มเก่าแล้วสำหรับยุคนี้) ใช้งานได้ไม่ว่องไวเมื่อใช้งาน OS หรือ App ใหม่ ๆ รวมไปถึง App เก่า ๆ เริ่มใช้งานได้ไม่ตอบโจทย์การทำงานได้อีกต่อไป ถ้ามีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม แน่นอนว่าหลาย ๆ คนก็ต้องอยากได้อยากใช้ครับ

ยุคนี้การเปลี่ยนอุปกรณ์เทคโนโลยีกันบ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติ

 

7. โมเดลรับรู้รายได้ต่อเนื่อง (Regular Income Model) – เรียกอย่างเข้าใจง่าย ๆ คือการเก็บค่าเช่า ค่าสมาชิก เป็นรายเดือนหรือรายปี อย่างศัพท์เก่า ๆ ที่เรียกว่า “เสือนอนกิน” … ลงทุนครั้งใหญ่อย่างเช่น การสร้างอพาร์ทเมนต์เพียงครั้งเดียว ก็จะสามารถเก็บค่าเช่าไปได้อย่างยาวนาน แต่… ด้วยคู่แข่งที่มากมายล้นเหลือในทุก ๆ ธุรกิจอย่างสมัยนี้ ผู้เขียนให้นิยามคำใหม่ว่า “แมวนอนกิน” น่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องด้วยต้องใช้ความระแวดระวังในการดำเนินธุรกิจและต้องพัฒนาตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่อง

จะนอนสบาย ๆ อย่างเจ้าป่าคงไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ อีกแล้ว

ลงทุนซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ

 

8. โมเดลจับคู่ (Matching Model) – เป็นตัวแทนจับคู่ระหว่างคนที่อยากซื้อ กับคนที่อยากขาย จุดแข็งของธุรกิจคือการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางในธุรกิจด้านนั้น ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงทั้งสองฝั่งระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค หรืออาจเป็นระหว่างฝั่งธุรกิจและธุรกิจด้วยกันเอง(B2B) ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถสร้างรายได้โดยการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่เกิดขึ้น หรืออาจเรียกเก็บเป็นจำนวนเงินตามที่ตกลงกันไว้ก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างที่สังเกตง่าย เช่น ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มักจัดตั้งบริษัทตัวแทน(Agent) ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งองค์กรเพื่อบริหารธุรกิจในด้าน Matching Model นั่นก็เป็นเพราะบริษัทย่อมมีข้อมูลทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย อยู่ในฐานข้อมูลของบริษัทอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีองค์ความรู้และทีมงานที่เข้าใจในการดำเนินธุรกิจอยู่พร้อมสรรพ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติของตัวแทนที่ดีคือสายสัมพันธ์ที่กว้างขวางในวงการธุรกิจนั้น ๆ

 

9. โมเดลขายซ้ำ (Template Model) เมื่อคุณผลิตอะไรขึ้นมาสักอย่าง และมีผู้คนมากมายต้องการที่จะซื้อหรือใช้งาน ผู้เขียนมีความตื่นเต้นที่จะนำเสนอข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าบางประเภทในโลกดิจิทัล ซึ่งคุณอาจไม่ต้องทำการผลิตซ้ำเพื่อการขาย(แต่ยังต้องคอยดูแลและต่อยอดคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นนะครับ) เช่น การขาย Website template ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ชิ้นงานทั่วไป หรือจะเป็น Template ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้งานคู่กับ Framework ยอดนิยม อย่าง WordPress โดยสถิติสูงสุดที่ผู้เขียนนำมาจาก Online market place ชื่อดังอย่าง Theme Forest พบว่า WordPress template ที่ขายดีที่สุดนั้นสามารถ

ขายซ้ำจากการผลิตเพียงครั้งเดียวได้เป็นจำนวนทั้งหมด 311,194 ครั้ง รวมรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ $18,671,640 หรือเป็นเงินสกุลไทยอยู่ที่เกือบ ๆ 650 ล้านบาท ! เท่านั้นเองครับผม…

ถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจระหว่างกันได้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม คือ โมเดลค้าปลีก(Retail Model) ของ Online market place และโมเดลขายซ้ำ(Template Model) ของผู้ผลิต Template นั่นเอง

ศึกษาการทำ Template กันดีกว่าครับ…

 

นักการตลาดดิจิทัล ผู้เริ่มต้นเส้นทางด้วยความหลงใหลในงาน Graphic Design และ Multimedia ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ การสื่อสารและการโฆษณา ผ่านร้อนผ่านหนาวในงานการตลาดดิจิทัล กับองค์กรเล็กๆ จนถึงระดับประเทศ มานานกว่า 15 ปี และด้วยความฝันที่จะผลิตงานเขียนดี ๆ ของตัวเอง ไว้นำไปประดับห้องสมุดส่วนตัว สักเล่ม..สองเล่ม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น