ศิลปะไทยในโลกธุรกิจสมัยใหม่

ศิลปะไทย5

เราทุกคนล้วนมีศิลปะในหัวใจ

ศิลปะอยู่รอบตัวเรา เเม้เราจะไม่รู้ว่ามันคือศิลปะก็ตาม เเก้วน้ำที่เราดื่ม โทรศัพท์ที่เราใช้ ผ้าที่เราห่ม ล้วนเป็นศิลปะที่ผ่านการออกเเบบอย่างพิถีพิถันทั้งนั้น

ศิลปะบางชนิดสามารถยืนหยัดบนโลกใบนี้ได้เป็นร้อย ๆ ปีโดยไม่เสื่อมคลาย อาทิ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ นครวาติกัน หรือ ภาพเขียนโมนาลิซ่า โดยลีโอนาโด ดาวินชี แต่ก็ไม่ใช่ศิลปะทุกเเขนงที่จะอยู่ยงคงกระพันได้เช่นนี้ ศิลปะบางอย่างก็ถูกกาลเวลาดูดกลืนจนลาลับไป

หากพูดถึงศิลปะของชาติอย่างศิลปะไทยเเล้ว (ผู้เขียนขอกล่าวถึงจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นหลัก) ทุกวันนี้มีพื้นที่ในสังคมเราน้อยลงเรื่อย ๆ เหตุผลสำคัญ คือการไม่ปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ และ หมุนตามโลกไม่ทัน

 

“เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นสัจธรรมของชีวิต หากไม่อยากดับสูญ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน จะเป็นเส้นทางเเห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม”

 

มุมมองแรก: ศิลปะไทยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่

เพราะอะไร? ศิลปะไทยยังสร้างกรอบ ข้อจำกัด กฏเกณฑ์อยู่มาก ซึ่งจริง ๆ เเล้ว ศิลปะนั้น ไม่ควรผูกพันธ์ด้วยข้อจำกัดใด ๆ เลย การเสพงานศิลปะในประเทศไทยยังคงอยู่ในวงที่เเคบ และถูกสร้างค่านิยมโดยกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน แท้จริงแล้ว คุณค่าของงานศิลปะไม่ควรถูกตีค่าโดยศิลปินหรือคนในวงการเท่านั้น เเต่คนทั่วไปที่ชอบงานศิลปะหรือไม่ชอบก็ได้ ควรมีส่วนร่วมในการตีคุณค่างานศิลปะด้วยเช่นกัน

เมื่อศิลปะไทยยังถูกข้อจำกัดที่วาดขึ้นมาด้วยตัวมนุษย์เอง การเเพร่หลายของผลงานจึงมีอุปสรรค เเบบนี้เราจะมาโทษคนรุ่นใหม่ว่าไม่สนใจงานศิลปะไทยคงจะไม่ได้ ในเมื่อการเข้าถึงยังคงมีความซับซ้อน

มุมมองที่สอง: ศิลปะไทยปรับตัวไม่ทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

โลกใบนี้ได้หมุนมาถึงยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว คนในวงการศิลปะไทยยังมีความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่มาก เมื่อขาดความรู้ด้านนี้ ศิลปะไทยจึงเหมือนวิ่งอยู่กับที่ ไม่ยอมไปข้างหน้าสักที นอกจากนี้เเล้ว ตัวศิลปินไทยบางท่านยังไม่ยอมเปิดใจรับกับความสมัยใหม่ ยังคงตีกรอบศิลปะไทยในรูปแบบเก่าอยู่ ศิลปินยุคเก่าต้องปรับตัวให้ไว เเละเข้าใจการเปลี่ยนเเปลงของโลกให้ได้

ทางเดินเส้นใหม่ของศิลปะไทย คือการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก เเล้วพร้อมที่จะก้าวไปกับมัน การเผยเเพร่ผลงาน ความรู้ สร้างเเรงบันดาลใจ โดยใช้พื้นที่สื่อออนไลน์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้ศิลปะไม่ล้าหลัง เเละสามารถปรับตัว อยู่รอด เเละ เฉิดฉาย ในโลกใบใหม่ใบนี้ได้

หากเราหลุดออกจากรอบเดิมได้แล้ว เราจะมองเห็นว่า ศิลปะไทยยังสามารถสร้างงานในรูปแบบใหม่ได้อีกมากมาย เช่น งานการตลาดกับแบรนด์ต่าง ๆ งานออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์ การใช้ภาพวาดเเทนภาพที่ออกเเบบด้วยคอมพิวเตอร์ ใช้ภาพวาดตกเเต่งสำนักงาน โรงแรม หรือ ร้านอาหาร ไม่ใช่เพียงเเค่วางไว้ใน Art Gallery และหวังว่าจะมีคนมาซื้อเท่านั้น

ศิลปะไทย ยังควรค่าเเก่การอนุรักษ์สืบต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  ไม่ใช่เพียงเเค่องค์กรของรัฐที่เป็นเจ้าภาพการอนุรักษ์ แต่ประชาชนชาวไทยทุกคน ควรช่วยเหลืออุ้มชูให้ศิลปะของชาติมีตัวตนต่อไป