ทำไมเสียงของพนักงานทุกระดับชั้น ถึงมีผลต่อการพัฒนาองค์กรอย่างคาดไม่ถึง

11

พนักงานทุกคนเปรียบดั่งฟันเฟืองที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า ฟันเฟืองทุกชิ้นมีความสำคัญ มีความเกื้อหนุนซึ่งกันเเละกัน ไม่สามารถเเยกออกจากกันได้

รูปแบบการบริหารงานในประเทศไทย ยังยึดติดกับลำดับชั้นอยู่มาก นั่นหมายความว่า กลยุทธ์และทิศทางขององค์กรถูกกำหนดโดยผู้บริหารเพียงไม่กี่คน เเม้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิด เเต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีประสิทธิภาพมากนัก

ถึงผู้บริหาร คุณเคยออกไปคลุกคลีกับฝ่ายปฏิบัติงานบ้างหรือเปล่า?

ถ้าคำตอบคือไม่ ลองลุกจากเก้าอี้อันเเสนสบายตัวนั้น เปิดประตูห้องทำงาน เเล้วออกไปดูงานของพนักงานจากหลากหลายภาคส่วนดูบ้าง เเล้วคุณจะเข้าใจความเป็นไปขององค์กรอย่างเเท้จริง

เเต่ไม่ใช่เพียงเเค่ดูงานเเล้วนับว่าเสร็จสิ้นภารกิจเพียงเท่านั้น หัวใจสำคัญที่เราต้องการจะสื่อสารในบทความนี้คือ “การรับฟัง”

การรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับชั้นเเละนำไปขยายผล จะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นที่ยอมรับ รู้สึกมีตัวตน มีคุณค่า เเละมีเเนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับองค์กรมากยิ่งขึ้น

การวางเเผนที่ดีต้องมาจากการดูงานทุกภาคส่วน ศึกษาทุกรายละเอียด สัมผัสปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากทุกระดับ เพื่อมาวางเเผนให้ถูกต้องและสมจริง

การรับฟังพนักงาน เป็นการเเสดงออกถึงความเอาใจใส่ของผู้บริหาร ส่งผลให้พนักงานมีเเนวโน้มที่จะรักองค์กรมากยิ่งขึ้น จนมีโอกาสผันตัวเองสู่การเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์โดยไม่รู้ตัว เมื่อมีความรัก พนักงานจะมีโอกาสปฏิบัติงานด้วยความสุข และจะสื่อสารเเง่มุมที่ดีขององค์กรออกไปได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ลองลุกออกจากห้องเเอร์ไปดูความเป็นจริงบ้าง!

ลองคิดดูว่า หากผู้บริหารวางเเผนจะให้องค์กรเปลี่ยนเเปลงธุรกิจสู่ดิจิทัลเเบบเต็มตัว แต่ไม่เคยมีโอกาสถามพนักงานเลยว่า คุณเข้าใจคำว่า “ธุรกิจดิจิทัล” มากน้อยเเค่ไหน การทำงานในปัจจุบันพร้อมสำหรับการเปลี่ยนเเปลงจริงๆหรือเปล่า แล้วเเบบนี้องค์กรมันจะเป็นดิจิทัลที่ดีได้อย่างไรล่ะ การเข้าไปรับฟังปัญหาเเละความคิดเห็นของพนักงาน เเล้วนำมาประยุกต์ใช้กับเเผนบริษัทในอนาคต จะทำให้องค์กรยืนอย่างมั่นคงได้ในระยะยาว

องค์กรหลายแห่งในต่างประเทศ มีระบบการให้คอมมิชชั่นจากการสร้างสรรค์ไอเดียของพนักงาน พนักงานคนไหนมีความคิดมานำเสนอ แล้วปฎิบัติได้จริง สามารถพัฒนาองค์กรได้ องค์กรจะตอบเเทนด้วยค่าคอมมิชชั่น โบนัสเพิ่มเติม หรือให้หุ้นเป็นการตอบเเทน สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเเรงกระตุ้นให้พนักงานกล้าคิด กล้าพูด กล้าเเสดงออกกันมากยิ่งขึ้น

เเต่หากตัวองค์กรไม่ได้สร้างบรรยากาศการทำงานที่จริงใจ หรือทำให้พนักงานคิดว่าเสียงที่พูดออกไปคงไม่มีโอกาสได้รับการตอบสนอง เเนวโน้มที่พนักงานจะพูดความในใจ หรือเเสดงความคิดเห็นต่อการทำงานนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

“Silent working is one of the greatest challenges to engagement.” – Nita Clarke

โดยสรุปเเล้ว การรับฟังเสียงของพนักงานทุกระดับชั้น คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับองค์กร ทุกเสียงมีความหมาย ทุกเสียงไม่ควรถูกมองข้าม เพราะหนึ่งเสียงของพนักงานตัวเล็กๆ อาจมีผลให้บริษัทสร้างกำไรได้หลายล้านบาทก็เป็นได้

นักการตลาด นักเดินทางสายธรรมชาติ และหนอนหนังสือ ที่มีความสนใจมากมายจนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ด้านสังคม การเมือง การศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และวงการเกม

Related Posts